Skip to main content
x

 

ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้ว ก็อาจถูกดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงได้

 

               รู้หรือไม่ !!! ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใด แม้จะออกจากราชการไปแล้วก็อาจถูกดำเนินการทางวินัยและถูกสั่งลงโทษได้เสมือนว่าผู้นั้นยังไม่ได้ออกจากราชการ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องนี้  ผู้เขียนมีกรณีศึกษาที่จะถามผู้อ่านว่าถ้านาย ม. นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ สังกัดส่วนราชการแห่งหนึ่ง ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการเงินของส่วนราชการนั้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 นาย ม. ได้ทุจริตนำเงินของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 นาย ม. ได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการ หลังจากนั้นมีผู้ทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่านาย ม. กระทำทุจริตดังกล่าวต่อต้นสังกัดของ นาย ม. ท่านคิดว่ากรณีนี้ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยกับนาย ม. ได้หรือไม่ ???
               ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (เดิม) นั้น การดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้ว จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้มีการกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนที่ข้าราชการผู้นั้นจะออกจากราชการ ไม่ว่าจะเป็นการออกจากราชการเพราะลาออก หรือเกษียณอายุราชการก็ตาม เว้นแต่กรณีที่ตาย  แต่เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 หลักในการดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้วได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ นอกจากผู้บังคับบัญชาจะมีอำนาจดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับข้าราชการที่ถูกกล่าวหาก่อนออกจากราชการตามหลักการเดิมแล้ว ยังสามารถที่จะดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับข้าราชการที่ถูกกล่าวหาภายหลังจากที่ออกจากราชการไปแล้วได้ด้วย เพียงแต่ในกรณีหลังนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาออกจากราชการ  ทั้งนี้ ทั้งกรณีที่เป็นการกล่าวหาก่อนออกจากราชการหรือภายหลังออกจากราชการไปแล้ว จะต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ
               ดังนั้น จากกรณีศึกษาข้างต้นเมื่อเรื่องนี้นาย ม. ได้กระทำการทุจริตนำเงินของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตนขณะที่มาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ แม้ต่อมามีการกล่าวหาร้องเรียนว่านาย ม. กระทำผิดวินัยฐานทุจริต ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ภายหลังจากที่นาย ม. ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการไปแล้ว ผู้บังคับบัญชาก็มีอำนาจดำเนินการทางวินัย กับนาย ม. ได้  แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่นาย ม. ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ และหากผลการสอบสวนปรากฏว่านาย ม. กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็สามารถสั่งลงโทษนาย ม. ได้ โดยต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่นาย ม. ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ  
              อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษตามมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ท. แล้ว มาตรา 100/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายของทั้งสององค์กรดังกล่าว  กล่าวคือ ไม่ต้องนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในเรื่องการกล่าวหาก่อนออกจากราชการหรือภายหลังออกจากราชการ รวมถึงการที่ต้องสั่งลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงภายในสามปี มาใช้บังคับกับกรณีที่เป็นการดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษ ตามมติการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. แต่อย่างใด
               จากกรณีศึกษาและหลักกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวข้างต้น คงพอที่จะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง
กับข้าราชการที่ออกจากราชการไปแล้วไม่มากก็น้อย  ทั้งยังได้รู้ถึงข้อแตกต่างระหว่างการดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษในทางปกติกับการดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษตามมติการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ท. อีกด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าถ้ามีกรณีเกิดขึ้นจริง ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะสามารถนำหลักกฎหมายดังที่กล่าวมา ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการทางวินัยได้อย่างถูกต้องนะ..ขอบอก...
ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ
ประเภทเนื้อหา
วันที่