Skip to main content
x

 

ยักยอกเงินที่ไม่ใช่เงินราชการ ก็อาจผิดฐานทุจริต

 
เรื่องดำที่  6010172   เรื่องแดงที่  0075161
ผลคำวินิจฉัย  ยกอุทธรณ์ และให้แก้ไขคำสั่งให้ถูกต้อง
การดำเนินการทางวินัย ต้นสังกัดดำเนินการเอง
 
               เงินประกันสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราว แม้จะไม่ใช่เงินของทางราชการ แต่ถ้าข้าราชการได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินดังกล่าวแล้ว ไม่นำเงินส่งคลังจังหวัดหรือเก็บรักษาเงินตามระเบียบการเก็บเงินและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พฤติการณ์ส่อว่ามีเจตนานำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และการออกคำสั่งลงโทษข้าราชการที่ลาออกจากราชการไปแล้วต้องสั่งให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ข้าราชการผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ
 

ข้อเท็จจริง

               ผู้อุทธรณ์ เดิมรับราชการตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ สังกัดโรงพยาบาลของจังหวัดแห่งหนึ่ง ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่เก็บเงินประกันสัญญาจ้างกับลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างด้วยเงินบำรุงของโรงพยาบาล เป็นเงินจำนวน 3,500 บาท ต่อราย และให้มีหน้าที่ริบเงินประกันสัญญาจ้างกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวออกจากงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไข และให้จ่ายเงินประกันสัญญาจ้างคืนให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวออกจากงานตามเงื่อนไขที่กำหนด  ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ผู้อุทธรณ์ได้นำเงินประกันสัญญาจ้างที่เก็บมาจากการหักค่าจ้างรายเดือนของลูกจ้างชั่วคราวเข้าบัญชีของตนเอง อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการคืนเงินประกันสัญญาจ้างดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวที่ออกจากงานตามเงื่อนไขที่กำหนด  
      
               รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ ซึ่งผลการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า ผู้อุทธรณ์มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเก็บเงินประกันสัญญาจ้างของลูกจ้างชั่วคราวในโรงพยาบาล ได้นำเงินประกันสัญญาจ้างที่ได้จากการหักค่าจ้างรายเดือนจากลูกจ้างชั่วคราวเข้าบัญชีของตนเองโดยไม่นำเงินฝากเข้าบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาล หรือเก็บเข้าคลังของจังหวัด ซึ่งบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีที่ผู้อุทธรณ์มีเพื่อใช้กู้เงินธนาคารกรุงไทย (สินเชื่อธนวัฏ) ซึ่งจากข้อเท็จจริงใน Saving Statement พบว่ามีการถอนเงินในส่วนที่เป็นเงินประกันสัญญาจ้างของลูกจ้างชั่วคราวออกไปด้วย พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ ที่สุดรองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมติ อ.ก.พ. จังหวัด มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว ต่อ ก.พ.ค. โดยอ้างว่าทางโรงพยาบาลไม่ได้กำหนดวิธีการกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวยังชำระเงินประกันสัญญาจ้างไม่ครบในคราวเดียวว่าจะเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้ที่ใด ผู้อุทธรณ์กลัวว่าเงินจะสูญหาย จึงแก้ไขด้วยการนำเงินดังกล่าวไปฝากไว้ในบัญชีส่วนตัวของตนเอง ตนไม่ได้เก็บเงินหรือซุกซ่อนเงินค่าประกันไว้ใช้เป็นการส่วนตัว และตนได้นำเงินประกันทั้งหมดในบัญชีเงินฝากส่วนตัวคืนให้แก่โรงพยาบาลแล้ว 

 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์มีหน้าที่รับผิดชอบเก็บเงินประกันสัญญาจ้างจากลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างด้วยเงินบำรุงของโรงพยาบาล มีหน้าที่ริบเงินประกันสัญญาจ้างกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวออกจากงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไข และจ่ายเงินคืนให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวออกจากงานตามเงื่อนไขที่กำหนด ผู้อุทธรณ์จึงเป็นผู้มีหน้าที่ราชการ เมื่อผู้อุทธรณ์ได้รับเงินประกันสัญญาจ้างกรณีที่หักจากค่าจ้างรายเดือนของลูกจ้างชั่วคราว เดือนละ 500 บาท  แล้วได้นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของตนเองซึ่งเป็นบัญชีที่ใช้กู้เงินธนาคารกรุงไทย (สินเชื่อธนวัฏ) โดยไม่นำเงินฝากเข้าบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาล หรือเก็บเข้าตู้นิรภัยสำหรับเก็บรักษาเงินของทางราชการ หรือแต่งตั้งกรรมการเก็บรักษาเงิน ตามระเบียบการเก็บเงินและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๒๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งที่ผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ฝ่ายบริหาร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตั้งแต่ปี 2531 และเคยดำรงตำแหน่งทางด้านการเงินและพัสดุ ย่อมต้องทราบว่าระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2536 ที่ให้ถือว่าเงินที่ได้จากการริบเงินประกันสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าวเป็น “เงินบำรุง” ชนิดหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบการเก็บเงินและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ อีกทั้งผู้อุทธรณ์ย่อมต้องรู้ว่าบัญชีที่ใช้กู้เงินธนาคารกรุงไทย (สินเชื่อธนวัฏ) เป็นเงินกู้เช่นเดียวกับเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีโอดี ดังนั้น  การที่ผู้อุทธรณ์นำเงินประกันสัญญาจ้างที่ได้จากการหักเงินรายเดือนของลูกจ้างชั่วคราวเข้าบัญชีดังกล่าว ผู้อุทธรณ์ย่อมได้รับประโยชน์ กล่าวคือ ดอกเบี้ยที่เกิดจากจากเงินฝากในบัญชีที่เพิ่มขึ้น หรือส่วนลดดอกเบี้ยในวงเงินกู้ เนื่องจากเมื่อมีเงินเข้าบัญชีเพิ่มขึ้นก็จะทำให้เงินต้นที่กู้ลดลง นอกจากนี้กรณีที่ลูกจ้างออกจากงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งจะต้องมีการริบเงินประกันสัญญา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้อุทธรณ์ได้นำเงินประกันสัญญาจ้างที่จะต้องริบดังกล่าวไปฝากไว้ที่คลังจังหวัดหรือดำเนินการเก็บรักษาตามระเบียบการเก็บเงินและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการหรือไม่  และในการจ่ายเงินคืนให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวออกจากงานตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามขั้นตอนการเบิกถอนเงินคืนจากคลังจังหวัดตามระเบียบ พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการแสดงถึงเจตนาปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและเป็นประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของทางราชการหรือไม่ 
               อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2560 การที่คู่กรณีในอุทธรณ์มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ออกคำสั่งจึงไม่เป็นไปตามข้อ 15 ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2554 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะต้องถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ได้ออกจากราชการไปก่อนแล้วเพราะถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการในกรณีอื่นหรือได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ ให้สั่งปลดออกหรือไล่ออกย้อนหลังไปถึงวันที่ออกจากราชการ  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ และให้คู่กรณีในอุทธรณ์ดำเนินการแก้ไขคำสั่งลงโทษให้ถูกต้องตามระเบียบ 

 

วันที่