Skip to main content
x

 

ประโยชน์ไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สิน ก็ผิดฐานทุจริตได้

 

เรื่องดำที่     5910036    เรื่องแดงที่    0086161

ผลคำวินิจฉัย    ยกอุทธรณ์ 

โทษ     ไล่ออกจากราชการ

การดำเนินการทางวินัย   ต้นสังกัดดำเนินการเอง   

 

                    ผู้อุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาอนุมัติคืนรายการบุคคลโดยลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการรับรองรายการบุคคล แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ได้รับเงินเป็นการตอบแทน แต่การที่ผู้อุทธรณ์อาศัยตำแหน่งหน้าที่กระทำการดังกล่าว ย่อมทำให้บุคคลได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์อื่น ๆ อีก พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ

 

ข้อเท็จจริง

                    เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2538 นาย บ. ได้ขอแจ้งการเกิดเกินกำหนดและยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน พร้อมทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกที่สำนักทะเบียนอำเภอ ค. ต่อมากรมการปกครองได้แจ้งให้จังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการได้มาซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของนาย บ. เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่าน่าจะเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐประชาชนจีน จังหวัดตรวจสอบแล้วพบว่า การแจ้งเกิดของนาย บ. ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 และการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนไม่เป็นไปตามระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2538 กรมการปกครองจึงแจ้งให้เพิกถอนเอกสารทางทะเบียนราษฎรและรายการเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนของนาย บ. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 สำนักทะเบียนจึงจำหน่ายชื่อและรายการบุคคลของนาย บ. ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 นาย บ. ได้มายื่นคำร้องขอคืนสภาพรายการบุคคลที่สำนักทะเบียนอำเภอ ค. ผู้อุทธรณ์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) พิจารณาเอกสารหลักฐานที่นาย บ. นำมายื่นประกอบ และได้สอบสวนนาย บ.  นาย น. ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าบ้าน นาย ส. บุคคลที่รู้จักนาย บ. ส่วนพยานรายนาย ป. ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้อุทธรณ์ได้จัดทำบันทึกถ้อยคำของ นาย ป. โดยมิได้ทำการสอบสวน และผู้อุทธรณ์ได้เขียนชื่อ นาย ป. ลงในช่องลายมือชื่อผู้ให้ถ้อยคำในบันทึกถ้อยคำของนาย ป. แล้วผู้อุทธรณ์ได้พิจารณาอนุมัติคืนรายการบุคคลให้นาย บ. ด้วยตนเองในฐานะผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอ ต่อมา กรมการปกครองได้แจ้งให้จังหวัดสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่ผู้อุทธรณ์รับคำร้องขอคืนรายการบุคคลให้กับนาย บ. ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายและสุจริตหรือไม่ จังหวัดได้สอบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า นาย บ. นำเอกสารที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สามารถใช้อ้างเพื่อเพิ่มชื่อหรือขอคืนรายการบุคคลได้มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ อีกทั้งผู้อุทธรณ์ยังได้จัดทำคำให้การของนาย ป. โดยปลอมลายมือชื่อของนาย ป. ในคำให้การเพื่อยืนยันว่ารู้จักกับนาย บ. พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงมีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วจึงสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์
                    คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ส่วนกรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้ปลอมลายมือชื่อของนาย ป. ในบันทึกถ้อยคำ เห็นว่า ผู้อุทธรณ์ไม่มีเจตนาที่จะปลอมลายมือชื่อ เพียงแต่เป็นการอำนวยความสะดวก และเพื่อความรวดเร็วในการบริการประชาชนตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติอยู่เป็นประจำเท่านั้น ไม่มีเจตนาทุจริต พฤติการณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 สมควรลงโทษตัดเงินเดือนในอัตราร้อยละ 5 เป็นเวลา 2 เดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แต่เนื่องจากผู้อุทธรณ์ได้เกษียณอายุราชการแล้ว จึงมีคำสั่งงดโทษผู้อุทธรณ์ และรายงานการดำเนินการทางวินัยไปยัง อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่ง อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้อุทธรณ์เป็นการปฏิบัติงานโดยไม่เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เพื่อเอื้อประโยชน์ในการขอคืนรายการบุคคลให้กับนาย บ. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำไม่สุจริต และส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ พฤติการณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) และตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงมีมติให้ยกเลิกคำสั่งงดโทษผู้อุทธรณ์ และให้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงยกเลิกคำสั่งงดโทษตัดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ ร้อยละ 5 เป็นเวลา 2 เดือน และมีคำสั่งเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เป็นไล่ออกจากราชการ ผู้อุทธรณ์จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเพิ่มโทษดังกล่าวต่อ ก.พ.ค.

 

คำวินิจฉัย

                    ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้อุทธรณ์ได้จัดทำบันทึกถ้อยคำของนาย ป. โดยมิได้มีการสอบสวนจริง อีกทั้ง ยังได้เขียนชื่อนาย ป. ลงในช่องลายมือชื่อผู้ให้ถ้อยคำในบันทึกถ้อยคำของนาย ป. โดยมีเจตนาเพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า นาย ป. เป็นผู้ลงลายมือชื่อด้วยตนเองนั้น การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการทำเอกสารอันเป็นเท็จ และเป็นการปลอมเอกสารด้วยการลงลายมือชื่อของบุคคลอื่นในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งบันทึกถ้อยคำของนาย ป. ในฐานะผู้ใหญ่บ้านนั้น เป็นพยานหลักฐานสำคัญในการรับรองรายการบุคคลตามกระบวนการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 การที่นาย บ. ถูกจำหน่ายชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้านเนื่องจากมีชื่อและรายการในทะเบียนบ้านโดยมิชอบหรือโดยทุจริต ย่อมทำให้น่าเชื่อได้ว่านาย บ. อาจไม่มีสิทธิได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและไม่อาจมีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย แต่ผู้อุทธรณ์กลับอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จและปลอมลายมือชื่อของบุคคลอื่นในเอกสาร เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นคำร้องขอคืนรายการบุคคลให้แก่นาย บ. ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง แม้ตามรายงานการสอบสวนจะไม่ปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ได้รับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนจากการกระทำดังกล่าว แต่การที่ผู้อุทธรณ์ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวย่อมส่งผลให้นาย บ. ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านและได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนในเวลาต่อมา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายแก่นาย บ. กรณีดังกล่าวจึงถือเป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) และตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งงดโทษตัดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ ร้อยละ 5 เป็นเวลา 2 เดือน และมีคำสั่งเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เป็นไล่ออกจากราชการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
 
วันที่