Skip to main content
x

 

การวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ

 

เรื่องดำที่  5810095  เรื่องแดงที่ 0074161
ผลคำวินิจฉัย    ลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ
การดำเนินการทางวินัย  สั่งลงโทษในฐานความผิดตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

 

               การพิจารณาความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้อุทธรณ์มีเจตนาเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยได้เข้าร่วมกระบวนการในการกระทำผิดอย่างไร ดังนั้น เมื่อเรื่องนี้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงยังไม่สามารถรับฟังได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริต ต่อหน้าที่ราชการ แต่เนื่องจาก ก.พ.ค. ในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ที่ต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลได้ คงมีอำนาจเพียงพิจารณาดุลพินิจในการสั่งลงโทษ โดยลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการได้เท่านั้น
 

ข้อเท็จจริง

               ผู้อุทธรณ์เดิมรับราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ ระดับชำนาญงาน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานธุรการ 5 สำนักงานจังหวัดแห่งหนึ่ง มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ และการปิดประกาศจัดซื้อจัดจ้างของทุกหน่วยงานที่ส่งให้สำนักงานจังหวัดทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แต่ผู้อุทธรณ์กลับปกปิดประกาศประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้าง โดยทำการปลอมแปลงเอกสารจากที่กำหนดวันขายเอกสารประกวดราคา ระหว่างวันที่ 1 - 16 ธันวาคม 2546 เป็นระหว่างวันที่ 1 - 15 ธันวาคม 2546 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณามีมติชี้มูลความผิดแก่ผู้อุทธรณ์ ว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาลอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
               ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุของผู้อุทธรณ์ จึงส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัดที่ผู้อุทธรณ์สังกัดอยู่พิจารณาตามมาตรา 97 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่ง อ.ก.พ. จังหวัดได้พิจารณามีมติให้ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้สั่งลงโทษผู้อุทธรณ์ตามมติดังกล่าว และต่อมาผู้อุทธรณ์ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. โดยโต้แย้งว่าไม่ได้เป็นผู้ปลอมแปลงเอกสาร และไม่ได้ทำการปิดประกาศเอกสารประกวดราคาฉบับที่มีการปลอมแปลง
 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. เสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้อุทธรณ์จะมีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของสำนักงานจังหวัด โดยงานส่วนหนึ่งรับผิดชอบงานศูนย์รวมข่าวประกาศประกวดราคาของจังหวัด ซึ่งการปิดประกาศประกวดราคา/สอบราคา เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ผู้อุทธรณ์ปฏิบัติ และในวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ผู้อุทธรณ์ได้ทำการเปลี่ยนประกาศประกวดราคาก็ตาม แต่การที่จะฟังว่าผู้อุทธรณ์มีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เข้าประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ นั้น จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้อุทธรณ์เข้าร่วมกระบวนการในการกระทำความผิดอย่างไร ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้อุทธรณ์เข้าร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการทุจริต โดยมีเจตนาปกปิดไม่เผยแพร่ประกาศประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่า การที่ผู้อุทธรณ์เปลี่ยนประกาศประกวดราคา เป็นการเปลี่ยนประกาศประกวดราคาตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมาให้เปลี่ยนเท่านั้น พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการปิดประกาศประกวดราคา ผู้อุทธรณ์จะต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาและเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะทำการปิดประกาศประกวดราคาที่ป้ายประกาศได้ ซึ่งในกรณีที่มีการเปลี่ยนใบประกาศก็ควรต้องดำเนินการเช่นกัน เมื่อผู้อุทธรณ์ได้เปลี่ยนประกาศประกวดราคา โดยไม่มีการรายงานและยังไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา การกระทำของผู้อุทธรณ์ย่อมเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาล ตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 อันเป็นกฎหมายที่บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด อย่างไรก็ตาม โดยที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2546 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ได้วางบรรทัดฐานให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและการมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องฟังเป็นที่ยุติ องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงและฐานความผิดตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ โดยมีอำนาจเพียงพิจารณาเฉพาะเรื่องดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเท่านั้น ก.พ.ค. โดยเสียงข้างมากจึงมีคำวินิจฉัยให้ลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ

 

วันที่