Skip to main content
x

 

แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

เรื่องดำที่      5820143      เรื่องแดงที่      0020261
ผลคำวินิจฉัย  ฟังขึ้น
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง 
  1. กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
  2. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548

 

                    หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ต้องกำหนดโดย อ.ก.พ. กรม คณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ อ.ก.พ. กรม แต่งตั้งให้ทำหน้าที่แทนไม่มีอำนาจกำหนด การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกจึงไม่ชอบ และการที่มิได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่กำหนด โดย อ.ก.พ. กรม ให้ข้าราชการในสังกัดได้ทราบโดยทั่วกัน อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการให้คะแนนแก่ผู้ที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกรายอื่น ๆ ด้วย กรณีจึงเป็นการดำเนินการคัดเลือกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 

ข้อเท็จจริง

                    สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศรับสมัครบุคคลที่จะเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ ผู้ร้องทุกข์ได้สมัครเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนโยบายและแผน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด น. ปรากฏว่ามีผู้สมัครเข้ารับการประเมิน จำนวน 21 ราย หลังจากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกได้มีการประชุมกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสินผู้ได้รับการคัดเลือกให้ส่งผลงานเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ดังนี้ 1) ความรู้ความสามารถ 25 คะแนน 2) ประวัติการรับราชการและประสบการณ์ 25 คะแนน 3) ผลงานที่เป็นผลการดำเนินงานที่ผ่านมา 20 คะแนน 4) ข้อเสนอคิด/วิธีการเพื่อพัฒนางาน หรือปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 20 คะแนน 5) คุณลักษณะอื่นๆ ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน เช่น ภาวะผู้นำ มนุษยสัมพันธ์ เป็นต้น 10 คะแนน  พิจารณาหลักเกณฑ์คัดเลือกบุคคลที่จะเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ตามประกาศดังกล่าว รวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติด้านระยะเวลาการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่จะแต่งตั้งของผู้ที่จะเข้ารับการคัดเลือกกรณีการเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นตามประกาศ อ.ก.พ. สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 และพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่จะส่งผลงานเข้ารับการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับชำนาญการพิเศษ จำนวน 1 ชื่อ ต่อ 1 ตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนโยบายและแผน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด น. นั้น ที่ประชุมมีมติให้นาย ก. วิศวกรชำนาญการ ฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ซ. เป็นผู้ได้รับคัดเลือก และสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้ส่งผลงานเข้ารับการประเมินฯ ดังกล่าว ต่อมา เมื่อคณะกรรมการประเมินผลงานฯ พิจารณาแล้ว มีมติให้ผลงานของผู้ขอรับการประเมินผ่านการประเมิน จากนั้นสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีคำสั่งแต่งตั้งนาย ก. ให้ดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนโยบายและแผน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด น. ส่วนผู้ร้องทุกข์ไม่ได้รับการคัดเลือก
 

คำวินิจฉัย

                    ก.พ.ค. เสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นเป็น 2 ส่วน คือ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคล และหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลงาน ซึ่งในการดำเนินการจะต้องมีการคัดเลือกให้ได้ผู้เหมาะสมด้วยเกณฑ์การคัดเลือกเสียก่อน เมื่อได้ตัวบุคคลแล้วจึงจะดำเนินการประเมินผลงานและแต่งตั้งผู้ผ่านการประเมินให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ซึ่งตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าว ได้กำหนดให้ อ.ก.พ. กรม เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาคัดเลือก โดยต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ คุณสมบัติของบุคคล คุณลักษณะของบุคคล ผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง 3 ปี ชื่อผลงานที่จะส่งประเมิน พร้อมเค้าโครงเรื่อง สัดส่วนของผลงานในส่วนที่ตนเองปฏิบัติและรายชื่อผู้ร่วมจัดทำผลงาน (ถ้ามี) ข้อเสนอแนวคิดเพื่อพัฒนางาน รวมทั้งกำหนดเกณฑ์การตัดสินและอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร และให้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ข้าราชการในสังกัดได้ทราบทั่วกัน โดย อ.ก.พ. กรม อาจจะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อทำหน้าที่แทนก็ได้ แต่จะทำหน้าที่แทนได้เฉพาะการพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลในเรื่องระยะเวลาขั้นต่ำในการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่จะแต่งตั้งหรือสายงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูลกับสายงานที่จะแต่งตั้ง พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ารับการประเมินผลงานตำแหน่งละ 1 คน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ อ.ก.พ. กรม กำหนด รายงานผลการพิจารณาคัดเลือกพร้อมทั้งเหตุผลต่อผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง และการพิจารณากรณีมีผู้ทักท้วงผลการคัดเลือก
                    ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏว่า อ.ก.พ. สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อทำหน้าที่แทน แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดในประกาศ อ.ก.พ. สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดังกล่าว ระบุว่า เกณฑ์การตัดสินผู้ได้รับการคัดเลือก ให้คณะกรรมการคัดเลือกของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดเกณฑ์การตัดสินแล้วเสนอปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความเห็นชอบ และประกาศเกณฑ์การตัดสินให้ทราบโดยทั่วกัน จึงเห็นได้ว่า ประกาศดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 ที่กำหนดให้ อ.ก.พ. กรม เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดเกณฑ์การตัดสิน ดังนั้น เกณฑ์การตัดสินที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนดเพื่อใช้ในการคัดเลือกครั้งนี้จึงมิใช่เกณฑ์การตัดสินที่กำหนดโดย อ.ก.พ. กรม การดำเนินการในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                    นอกจากนี้ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ข้างต้น ยังได้กำหนดว่า เมื่อ อ.ก.พ. กรม กำหนดเกณฑ์การตัดสินแล้ว จะต้องประกาศเกณฑ์การตัดสินให้ข้าราชการในสังกัดได้ทราบทั่วกันด้วย ฉะนั้น เมื่อประกาศ อ.ก.พ. สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มิได้ประกาศเกณฑ์การตัดสินกับทั้งในการคัดเลือกครั้งนี้ไม่ปรากฏว่ามีการประกาศเกณฑ์การตัดสินที่กำหนด โดย อ.ก.พ. สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้าราชการได้ทราบโดยทั่วกัน การดำเนินการในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ประกอบกับในส่วนการพิจารณาคัดเลือก เมื่อพิจารณารายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกไม่ปรากฏการให้คะแนนผู้สมัครรายอื่น ๆ (รวมถึงผู้ร้องทุกข์) ตามองค์ประกอบต่าง ๆ ที่กำหนด คงมีเพียงการให้คะแนนและความเห็นสำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเท่านั้น จึงไม่มีข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นว่า ผลการพิจารณาคัดเลือกนั้นเป็นธรรมแก่ผู้สมัครรายอื่น ๆ รวมถึงผู้ร้องทุกข์หรือไม่ อย่างไร ดังนั้น การดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับชำนาญการพิเศษ ในครั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย วินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งที่แต่งตั้งให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนโยบายและแผน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด น. และให้ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง
 
วันที่