Skip to main content
x

 

ไม่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง

 

เรื่องดำที่  6020152     เรื่องแดงที่  0043261
ผลคำวินิจฉัย  ยกคำร้องทุกข์ 
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
          1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
          2. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 16 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552
          3. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708/ว 9 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2535
          4. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร0708.1/ว 11 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2542
          5. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร1006/ว 3 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2548
          6. หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0504/ว 9 ลงวันที่ 16 มกราคม 2547
          7. หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 321 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2560
 
                   องค์ประกอบเรื่องความมีอาวุโสในราชการสามารถนำมาใช้ประกอบในการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการได้ แต่ต้องนำมาใช้เป็นองค์ประกอบสุดท้าย เมื่อได้พิจารณาถึงองค์ประกอบหลักด้านอื่น ๆ แล้ว และการออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนให้ดำรงตำแหน่งที่ยังไม่ว่าง โดยให้คำสั่งมีผลใช้บังคับเมื่อตำแหน่งดังกล่าวว่างลงแล้วนั้น สามารถกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็น ทั้งนี้ ข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งด้วย
 

ข้อเท็จจริง

                   ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 สำนักงบประมาณจะมีตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (บริหารระดับสูง) ว่างลง จำนวน 4 ตำแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณได้มีคําสั่งที่ 155/2560 ลงวันที่ 27 กันยายน 2560 มอบอํานาจในการปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของสํานักงบประมาณให้รองผู้อํานวยการสํานักงบประมาณสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 ซึ่งรองผู้อํานวยการสํานักงบประมาณได้ปรึกษาหารือร่วมกับรองผู้อํานวยการสํานักงบประมาณที่มีอาวุโสสูงสุดเพื่อพิจารณาข้าราชการตําแหน่งที่ปรึกษาสํานักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ที่จะว่าง 4 ตําแหน่งดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นมีผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ จำนวน 6 ราย (รวมถึงผู้ร้องทุกข์) ผลจากการปรึกษาหารือเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงบประมาณทั้งหกราย มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเสนอให้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เรียงตามลำดับ โดยผู้ร้องทุกข์อยู่ในลำดับที่ 5 และสำนักงบประมาณได้เสนอรายชื่อข้าราชการลำดับที่ 1 – 4 ต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่เสนอ ที่สุดคณะรัฐมนตรีได้พิจารณามีมติอนุมัติการแต่งตั้งข้าราชการทั้งสี่ราย ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ผู้ร้องทุกข์จึงได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.
 

คำวินิจฉัย

                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้เป็นการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ไปดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ซึ่งตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 16 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552 กำหนดว่า กรณีการแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา 13,000 บาท (ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ) ไปดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา 14,500 บาท (รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ) ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708/ว 9 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2535 เรื่องการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่ นร 0708.3/ว 11 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2542 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการ และ ที่ นร 1006/ว 3 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2558 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งระดับ 10 ประเภทบริหาร ระดับสูง (บส.) ซึ่งสำนักงบประมาณได้เสนอรายชื่อข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณที่จะว่าง จำนวน 4 ตำแหน่ง ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนายกรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณจึงมีคำสั่งให้ข้าราชการทั้งสี่รายรักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เห็นได้ว่า การดำเนินการของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด
                   แม้ผู้ร้องทุกข์จะมีอาวุโสในราชการมากกว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสี่ราย เนื่องจากผู้ร้องทุกข์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ก่อนผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสี่รายก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 42 (3) ไม่ได้กำหนดให้นำเรื่องอาวุโสในราชการมาใช้ในการพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่งและ การให้ประโยชน์อื่นแก่ราชการ แต่ให้พิจารณาจากผลงาน ศักยภาพ และความประพฤติ และ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/ว 11 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2542 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการ กำหนดว่า การพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง นอกจากจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ ผลงานและประวัติการรับราชการแล้วให้พิจารณาศักยภาพในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่จะได้รับการแต่งตั้งด้วย โดยเฉพาะการแต่งตั้งนักบริหารระดับสูง ให้นำคุณลักษณะของการเป็นผู้นำ เช่น เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล กล้ารับผิดชอบ กล้าตัดสินใจ และกล้าเผชิญปัญหา มาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาด้วย ส่วนองค์ประกอบเรื่องอาวุโสในราชการนั้น จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการก็ได้ แต่ต้องใช้เป็นองค์ประกอบสุดท้ายเมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากประวัติการรับราชการ ได้แก่ เงินเดือน ผลการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงาน (๒ ขั้น) ผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการ (ระดับดีเด่น) ระยะเวลาและประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการ และการได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งสําคัญ ปรากฏว่าผู้ร้องทุกข์ได้รับการประเมินผลการปฏิบัติราชการ (ดีเด่น) น้อยกว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสี่ราย เรื่องเงินเดือน ผู้ร้องทุกข์ได้รับเงินเดือนน้อยที่สุด ส่วนอายุราชการ ผู้ร้องทุกข์ก็มีอายุราชการน้อยที่สุด อีกทั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณได้ชี้แจงว่า ผู้ร้องทุกข์มีระยะเวลาในการสั่งสมประสบการณ์ในการปฏิบัติงานน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในภารกิจหลักด้านการวิเคราะห์งบประมาณ ซึ่งผู้ร้องทุกข์ไม่เคยปฏิบัติงานในตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักด้านการวิเคราะห์งบประมาณ หรือด้านยุทธศาสตร์ หรือด้านนโยบาย มาก่อน ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่สําคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งรองผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ
                   นอกจากนี้ เนื่องจากกรณีนี้เป็นการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนผู้เกษียณอายุ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0504/ว 9 ลงวันที่ 16 มกราคม 2547 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 หรือระดับ 11 ซึ่งได้กำหนดการแต่งตั้งข้าราชการล่วงหน้าให้กระทำได้ในกรณีการออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนให้ดำรงตำแหน่งที่ยังไม่ว่างในขณะที่ออกคำสั่ง โดยให้คำสั่งมีผลใช้บังคับเมื่อตำแหน่งดังกล่าวว่างลงแล้วนั้น กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็น เช่น การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนผู้เกษียณอายุ ประกอบกับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสี่รายก็มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งซึ่งสามารถจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณที่ว่างได้ จึงไม่ใช่กรณีผู้มีอำนาจแต่งตั้งไม่อาจออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนที่มีคุณสมบัติยังไม่ครบตามกฎหมายกำหนดไว้ให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ เป็นการล่วงหน้า โดยให้คำสั่งมีผลใช้บังคับเมื่อผู้ได้รับแต่งตั้งมีคุณสมบัติครบถ้วน ดังนั้น การที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณได้พิจารณาและเสนอชื่อข้าราชการต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (บริหารระดับสูง) ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และทำให้คำสั่งให้ข้าราชการรักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (บริหารระดับสูง) จำนวน 4 ราย เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน คำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทุกข์
 
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.