Skip to main content
x

 

ลงโทษไปแล้ว จะลงโทษในกรณีเดียวกันได้อีกหรือไม่

 

               ครั้งนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” มีตัวอย่างคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. กรณีที่ผู้อุทธรณ์ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงไปแล้ว  และต่อมาจะสั่งเพิ่มโทษเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีความผิดที่ได้กระทำอย่างเดียวกันนี้อีกได้หรือไม่ ซึ่งมีรายละเอียดและ ก.พ.ค. จะมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร นั้น  มาลองติดตามกัน
               เรื่องนี้ผู้อุทธรณ์เดิมรับราชการอยู่ที่หน่วยงานแห่งหนึ่ง ถูกอธิบดีสั่งลงโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 3 เดือน ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ และฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง และมาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ต่อมาได้มีการรายงานการดำเนินการทางวินัยเรื่องนี้ไปยัง อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อพิจารณา ซึ่ง อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์ถือเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบของทางราชการ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง จึงมีมติให้กรมดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้อุทธรณ์ อธิบดีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้อุทธรณ์ตามกฎหมาย  คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงได้รายงานการสอบสวนไปยังอธิบดี ซึ่งอธิบดีเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงเสนอเรื่องต่อ อ.ก.พ. กรม เพื่อพิจารณา ซึ่ง อ.ก.พ. กรม พิจารณาเรื่องนี้แล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อธิบดีโดยมติ อ.ก.พ. กรมดังกล่าว จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  โดยที่ไม่มีการยกเลิกคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด  ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อ ก.พ.ค.
                ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัย จะต้องได้รับโทษทางวินัย เว้นแต่มีเหตุอันควรงดโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 7 การดำเนินการทางวินัย  และวรรคสอง บัญญัติว่า โทษทางวินัยมี 5 สถาน ดังต่อไปนี้ (1) ภาคทันฑ์ (2) ตัดเงินเดือน (3) ลดเงินเดือน (4) ปลดออก (5) ไล่ออก  และมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน บัญญัติว่า เมื่อมีกรณีเพิ่มโทษ ลดโทษ งดโทษหรือยกโทษ ให้ผู้สั่งมีคำสั่งใหม่ และในคำสั่งดังกล่าวให้สั่งยกเลิกคำสั่งลงโทษเดิม พร้อมทั้งระบุวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับโทษที่ได้รับไปแล้ว ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. สำหรับเรื่องนี้เมื่อผู้อุทธรณ์ได้กระทำผิดวินัย และได้รับโทษทางวินัย กล่าวคือ ถูกลงโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 3 เดือน ไปแล้ว การที่ต่อมามีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการในเรื่องเดียวกันนี้อีกโดยไม่ได้ยกเลิกคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้อุทธรณ์เสียก่อน จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการพิจารณาเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์ เพราะถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 105 กรณีจึงเป็นการลงโทษผู้อุทธรณ์สองครั้ง ในเรื่องเดียวกัน คำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งที่ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการให้เป็นการถูกต้องต่อไป 
               เรื่องนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ส่วนราชการอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการออกคำสั่งลงโทษข้าราชการที่กระทำผิดวินัย  โดยเฉพาะการออกคำสั่งเพิ่มโทษดังกล่าว ซึ่งต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อนว่าข้าราชการที่จะถูกเพิ่มโทษนั้น มีกรณีที่ถูกลงโทษทางวินัยในความผิดอย่างเดียวกันกับความผิดที่จะถูกเพิ่มโทษหรือไม่  ถ้ามีก็จะต้องยกเลิกคำสั่งลงโทษเดิมเสียก่อน มิฉะนั้นอาจจะขัดกับหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามมิให้ลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียว (Double Jeopardy) ทั้งยังทำให้ต้องเสียเวลาในการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งอีกด้วยนะ..ขอบอก...        
ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ
 
ประเภทเนื้อหา
วันที่