Skip to main content
x

 

อำนาจในการออกคำสั่งให้รักษาการในตำแหน่งและการมอบอำนาจ

 

เรื่องดําที่  5420061  เรื่องแดงที่ 0022261     
ผลคำวินิจฉัย    ยกคำร้องทุกข์   
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551        
  2. กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
  3. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
  4. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 

 

               การย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ไปรักษาการในตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ไม่ถือเป็นการย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งในระดับที่ต่ำกว่าเดิม  ผู้บังคับบัญชาจึงมีอำนาจสั่งย้ายได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่ถูกย้าย และปลัดกระทรวงมีดุลยพินิจโดยแท้ที่จะมอบอำนาจให้รองปลัดกระทรวงบางคน หรือผู้รักษาราชการแทน  หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ให้ปฏิบัติหน้าที่แทนตนได้ ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 
 

ข้อเท็จจริง

               ปลัดกระทรวง ก. ได้ออกคําสั่งจำนวน 4 คำสั่ง  ได้แก่ 1) คำสั่งแต่งตั้งให้นาย ส. ซึ่งดำรงตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) สํานักงานปลัดกระทรวงฯ รักษาราชการแทนตําแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) (กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาฯ) สํานักงานปลัดกระทรวงฯ 2) คําสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องทุกข์ ซึ่งดำรงตําแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) (กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาฯ) สํานักงานปลัดกระทรวงฯ รักษาการในตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) สํานักงานปลัดกระทรวงฯ  3) คําสั่งกระทรวงกําหนดให้ผู้ร้องทุกข์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติงานหรือบริหารจัดการ (CEO) ในเขตที่กำหนด 4) คําสั่งมอบอํานาจให้นาย ส. รักษาการรองปลัดกระทรวงฯ ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจ ข้าราชการที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงฯ และผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ ผู้ร้องทุกข์เห็นว่า การออกคำสั่งของกระทรวง ก. ดังกล่าว ขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเป็นคำสั่งที่ลดบทบาทหน้าที่ของผู้ร้องทุกข์ อีกทั้งยังเป็นการออกคำสั่งทั้งที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น  จึงร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ขอให้วินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งทั้งหมดดังกล่าว
 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ปลัดกระทรวง ก. มีคำสั่งย้ายผู้ร้องทุกข์ซึ่งขณะนั้นดำรงตําแหน่งรองปลัดกระทรวงไปรักษาการในตําแหน่งผู้ตรวจราชการในกระทรวงเดียวกัน ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอน ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้ว อีกทั้งการย้ายจากตําแหน่งรองปลัดกระทรวงไปแต่งตั้งให้ดำรงตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง ซึ่งเป็นตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง เหมือนกัน สิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับทั้งในเรื่องเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนรายเดือนก็ยังคงได้รับอยู่เท่าเดิม กรณีดังกล่าวจึงมิใช่การย้ายผู้ร้องทุกข์ไปแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในระดับที่ต่ำกว่าเดิมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร้องทุกข์ ตามมาตรา 63 วรรคสาม และเมื่อพิจารณาถึงการปฏิบัติงานของผู้ร้องทุกข์ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจที่ผ่านมามีปัญหาเนื่องจากความเข้าใจในข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนของผู้ร้องทุกข์ ทําให้งานราชการของกรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ร้องทุกข์ล่าช้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการจริง ดังนั้นการที่ปลัดกระทรวง ก. ย้ายผู้ร้องทุกข์จึงมีความสมเหตุสมผล และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และถือเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว 
              ส่วนกรณีที่ปลัดกระทรวง ก. ออกคำสั่งแต่งตั้งให้นาย ส. ซึ่งดำรงตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) สํานักงานปลัดกระทรวงฯ รักษาราชการแทนตําแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) (กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาฯ) สํานักงานปลัดกระทรวงฯ และคำสั่งที่แต่งตั้งให้ผู้ร้องทุกข์ ซึ่งดำรงตําแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) (กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาฯ) สํานักงานปลัดกระทรวงฯ รักษาการในตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) สํานักงานปลัดกระทรวงฯ  ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเดิมนั้น ก็ปรากฏว่าปลัดกระทรวง ก. ได้ดำเนินการตามมาตรา 44 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 68 วรรคหนึ่ง มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้ว แต่การที่ นาย ส. และผู้ร้องทุกข์ จะพ้นจากตำแหน่งเดิมและดำรงตำแหน่งใหม่เมื่อใด ขึ้นอยู่กับว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ในวันใด และเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเดิมแล้ว จะทำให้นาย ส. และผู้ร้องทุกข์ ไม่สามารถปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมได้อีกต่อไป ซึ่งกระทรวง ก. จะทราบว่ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ในวันใด ขึ้นอยู่กับว่าได้รับหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่แจ้งว่ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในวันใด กรณีจึงเห็นได้ว่า หากยังคงให้นาย ส. ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง  และให้ผู้ร้องทุกข์ ยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงต่อไป จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง จะทำให้การปฏิบัติราชการของนาย ส. และผู้ร้องทุกข์ ตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ  จนถึงวันที่กระทรวง ก. ได้ทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเดิม เป็นการดำเนินการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย  อันจะส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการของกระทรวง ก. ได้  ดังนั้น การออกคำสั่งแต่งตั้งให้นาย ส. รักษาราชการแทนตําแหน่งรองปลัดกระทรวง และคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องทุกข์ รักษาการในตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเดิม จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว 
             สำหรับกรณีที่ปลัดกระทรวง ก. ออกคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติงานหรือบริหารจัดการ (CEO) ในเขตที่กำหนดนั้น ก็เป็นกรณีที่ปลัดกระทรวง ก. ใช้อำนาจทางบริหารในฐานะผู้บังคับบัญชารองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ก. และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวง ก. ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ในเชิงพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้มีการแบ่งส่วนราชการใหม่แต่อย่างใด การที่ปลัดกระทรวง ก. ออกคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติงานหรือบริหารจัดการ (CEO) ในเขตที่กำหนด จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
             นอกจากนี้กรณีที่ปลัดกระทรวง ก. มีคําสั่งมอบอํานาจให้นาย ส. รักษาการรองปลัดกระทรวงฯ ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจ ข้าราชการที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงฯ และผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ นั้น ปลัดกระทรวง ก. มีดุลยพินิจโดยแท้ที่จะมอบอำนาจให้รองปลัดกระทรวง ก. บางคน หรือผู้รักษาราชการแทน  หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นได้ ตามนัยมาตรา 21 วรรคสอง และมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น คําสั่งมอบอํานาจให้รองปลัดกระทรวงฯ รักษาการรองปลัดกระทรวงฯ ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจ ข้าราชการที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงฯ และผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ จึงไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น คําสั่งกระทรวงฯ ทั้ง 4 คําสั่งดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกคําร้องทุกข์ 

 
วันที่