Skip to main content
x

 

ลงโทษสองครั้งในเรื่องเดียวกันไม่ได้

 

เรื่องดำที่  6010038   เรื่องแดงที่  0052161
ผลคำวินิจฉัย    ยกเลิกคำสั่งและให้ดำเนินการใหม่
การดำเนินการทางวินัย    ต้นสังกัดดำเนินการเอง 
 
           ผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยและถูกลงโทษตัดเงินเดือน 5 % เป็นเวลาสามเดือนไปแล้ว ต่อมา ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการในเรื่องเดียวกันอีก โดยที่ไม่ได้มีการยกเลิกคำสั่งลงโทษเดิม กรณีจึงไม่อาจถือว่าเป็นการพิจารณาเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์ เนื่องจากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และถือเป็นการลงโทษผู้อุทธรณ์ซ้ำกันสองครั้งในการกระทำผิดเรื่องเดียวกัน คำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 

ข้อเท็จจริง

           ขณะที่ผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2 ปฏิบัติหน้าที่ที่เรือนจำแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 ผู้อุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์กลางคืนประตู 3 มีหน้าที่ตรวจค้นสิ่งของและบุคคลและยานพาหนะเข้าออกเรือนจำ ตั้งแต่เวลา 16.30 น. – 08.00 น. แต่ในเวลาประมาณ 12.00 น. น.ช. แดง ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลืองานประจำฝ่ายรักษาการณ์ และเป็นผู้ช่วยเหลืองานผู้อุทธรณ์ ได้ขอให้ผู้อุทธรณ์ไปรับของใช้ส่วนตัวโดยอ้างว่าญาติของ น.ช. แดง ฝากไว้ที่ร้านขายข้าวมันไก่หน้าเรือนจำ ผู้อุทธรณ์ออกพักเวรเวลาประมาณ 15.00 น. และได้แวะไปที่ร้านขายข้าวมันไก่โดยนำสิ่งของที่มีผู้ฝากให้ผู้ต้องขังประกอบด้วยโฟมล้างหน้า 1 หลอด ลูกกลิ้งดับกลิ่น 1 ขวดและสเปรย์น้ำหอม 1 ขวด ในเวลาประมาณ 16.15 น. ผู้อุทธรณ์ได้กลับเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ เมื่อเดินผ่านประตู 1 และประตู 2 ผู้อุทธรณ์ได้นำสิ่งของดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ประตู 1 และประตู 2 ตรวจค้น ซึ่งไม่พบสิ่งผิดปกติ และเวลาประมาณ 16.30 น. น.ช. แดง ได้นำเครื่องอุปกรณ์หลับนอนมาให้ผู้อุทธรณ์ที่ประตู 3 ผู้อุทธรณ์จึงได้มอบสิ่งของดังกล่าวให้กับ น.ช. แดง ต่อมา วันที่ 22 สิงหาคม 2548 งานควบคุมแดน 2 ได้ตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ต้องขังสี่คน ได้แก่ น.ช. แดง  น.ช. เขียว  น.ช. ส้ม และ น.ช. เหลือง ผู้บัญชาการเรือนจำจึงได้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่ง น.ช. เขียว ให้การว่า เป็นผู้นำยาบ้าสี่เม็ดเข้ามาในเรือนจำในวันที่ไปศาล แต่ต่อมา น.ช. เขียว ได้ขอให้การใหม่อ้างว่าที่ให้การไว้เดิมไม่เป็นความจริง น.ช. ม่วง ให้การว่า ยาเสพติด (ยาบ้า) จำนวน 15 เม็ด บรรจุอยู่ในหลอดโฟมล้างหน้า โดยให้ญาติของ น.ช. ม่วง นำไปฝากไว้ที่ร้านขายข้าวมันไก่ แล้วให้ผู้อุทธรณ์เป็นผู้นำมามอบให้ในขณะปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์กลางคืนประตู 3 ผู้บัญชาการเรือนจำจึงรายงานเรื่องนี้ต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
           คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเห็นว่า พยานแวดล้อมมีเหตุให้เชื่อได้ว่ามียาบ้าซุกซ่อนภายในหลอดโฟมล้างหน้าที่ผู้อุทธรณ์ นำเข้ามาให้ น.ช. แดง จริง แต่จากพยานหลักฐานยังไม่ชัดเจนหรือปรากฏว่าผู้อุทธรณ์มีส่วนรู้เห็นกับการซุกซ่อนยาบ้าดังกล่าว อีกทั้งวันเกิดเหตุผู้อุทธรณ์ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประตู 1-3 หากผู้อุทธรณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำยาบ้าเข้าเรือนจำจริง ผู้อุทธรณ์ก็สามารถนำยาบ้าเข้าเรือนจำได้โดยไม่จำต้องซุกซ่อนยาบ้าดังกล่าว สาเหตุที่มียาบ้าเล็ดลอดเข้าไปในเรือนจำ น่าจะเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของผู้อุทธรณ์ที่รับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังเข้าไปให้ผู้ต้องขัง และยังบกพร่องไม่ทำการตรวจค้นของฝากโดยละเอียดถี่ถ้วน เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง และมาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น เห็นควรลงโทษตัดเงินเดือน 5 % เป็นเวลา 3 เดือน อธิบดีกรมราชทัณฑ์เห็นชอบด้วย จึงมีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ 5 % เป็นเวลา 3 เดือน และรายงานการดำเนินการทางวินัยไปยัง อ.ก.พ. กระทรวงยุติธรรม ซึ่ง อ.ก.พ. กระทรวงยุติธรรม พิจารณามีมติให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ คู่กรณีในอุทธรณ์จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ 
           ผลการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ และฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตนและเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนไม่ให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใด ๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง และมาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 การที่กรมราชทัณฑ์ได้มีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ในอัตราร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน เห็นว่า ระดับโทษเหมาะสมกับกรณีกระทำผิดแล้ว แต่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เห็นว่า พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเสนอ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ พิจารณา ซึ่ง อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ พิจารณาเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงมีมติให้ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ

 

คำวินิจฉัย

           ก.พ.ค. เสียงข้างมาก พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 ผู้อุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์กลางคืนประตู 3 ผู้อุทธรณ์ได้นำโฟมล้างหน้า 1 หลอด ลูกกลิ้งดับกลิ่น 1 ขวด และสเปรย์น้ำหอม 1 ขวด ที่ญาติผู้ต้องขังนำไปฝากไว้ที่ร้านขายข้าวมันไก่หน้าเรือนจำเข้าไปให้ผู้ต้องขังภายในเรือนจำ โดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขัง และฝ่าฝืนระเบียบของเรือนจำที่ห้ามนำวัตถุสิ่งของซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่เข้าเรือนจำ แต่เนื่องจากสิ่งของดังกล่าวไม่ใช่สิ่งของต้องห้าม และไม่มีพยานหลักฐานที่จะแสดงให้เห็นว่ามียาเสพติด (ยาบ้า) อยู่ในหลอดโฟมล้างหน้า อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้อุทธรณ์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในการรับฝากสิ่งของ การที่ผู้อุทธรณ์นำสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังเข้าไปให้ น.ช. แดง เนื่องจาก น.ช. แดง เป็นผู้ช่วยเหลืองานผู้อุทธรณ์ จึงมีความสนิทสนมกัน ประกอบกับผู้อุทธรณ์เป็นคนเรียบร้อย ขยันในการทำงาน ไม่มีพฤติการณ์ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสิ่งของต้องห้าม ตามพยานหลักฐานจึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ในหลอดโฟมล้างหน้าที่ผู้อุทธรณ์นำเข้าเรือนจำให้ผู้ต้องขังนั้นมียาเสพติด (ยาบ้า) อยู่ในหลอดโฟมล้างหน้าดังกล่าว แต่การที่ผู้อุทธรณ์นำหลอดโฟมล้างหน้าเข้าไปให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติวินัยข้าราชการกรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2482 มาตรา 8 ที่บัญญัติไว้ในการเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ต้องไม่รับทรัพย์สินจากญาติมิตรผู้ต้องขังไว้ให้ผู้ต้องขัง และไม่เป็นสื่อติดต่อโดยทางตรงหรือทางอ้อมระหว่างผู้ต้องขังกับญาติมิตรของผู้ต้องขังแล้ว ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และยังเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาล โดยไม่เสียหายแก่ราชการ และฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใด ๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง และมาตรา 98 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น เห็นสมควรให้ลงโทษตัดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ในอัตราร้อยละ 4 เป็นเวลาสามเดือน
           อย่างไรก็ตาม โดยที่ปรากฏว่ากรณีเดียวกันนี้ ผู้อุทธรณ์เคยถูกลงโทษตัดเงินเดือน 5 % เป็นเวลาสามเดือนมาแล้ว การที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการในเรื่องเดียวกันอีก โดยไม่ได้ยกเลิกคำสั่งเดิมที่ลงโทษตัดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ กรณีจึงไม่อาจถือว่าเป็นการพิจารณาเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เนื่องจากปฏิบัติไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กรณีนี้จึงเป็นการลงโทษผู้อุทธรณ์สองครั้งในเรื่องเดียวกัน คำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการให้เป็นการถูกต้องต่อไป

 

วันที่