Skip to main content
x

 

รับสารภาพต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง

 

เรื่องดำที่  6010136   เรื่องแดงที่  0047161
ผลคำวินิจฉัย    ยกอุทธรณ์ 
การดำเนินการทางวินัย    ต้นสังกัดดำเนินการเอง 
 
          การที่ผู้อุทธรณ์รับสารภาพเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน รวมทั้งได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา ถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชามีดุลพินิจที่จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้ และการปรับบทความผิดทางวินัย ต้องปรับบทความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำผิดวินัย
 

ข้อเท็จจริง

          ขณะที่ผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 5 โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีหน้าที่เก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากผู้รับบริการที่ห้องเก็บเงิน ผู้อุทธรณ์ได้ออกใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไม่ตรงกับจำนวนเงินในใบสั่งยา ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของโรงพยาบาลได้ตรวจสอบพบว่า ผู้อุทธรณ์นำเงินที่รับเป็นค่ารักษาพยาบาลจากผู้รับบริการไป จำนวน 18,415 บาท ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2559 ได้มีผู้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โรงพยาบาลจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ ซึ่งผู้อุทธรณ์ได้ลงนามในหนังสือยอมรับผิดตามข้อร้องเรียนว่าได้ทุจริตเงินค่ารักษาพยาบาลในช่วงปี พ.ศ. 2549 ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเห็นว่า ผู้อุทธรณ์ได้กระทำผิดจริงและเป็นกรณีที่ผู้อุทธรณ์ซึ่งมีหน้าที่ในการเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากผู้รับบริการ แต่กลับนำเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ถือเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และจากการที่ผู้อุทธรณ์ได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพ และได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการสืบสวนผู้มีหน้าที่สืบสวน และมีหนังสือยอมรับสารภาพว่าได้กระทำผิดทุกประเด็นตามข้อกล่าวหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ถือว่าเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามข้อ 65 (3) ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้ การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมติ อ.ก.พ. จังหวัด จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ
 

คำวินิจฉัย

          ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์ได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพว่าได้ทุจริตนำเงินค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากผู้รับบริการไปใช้ส่วนตัวจริง และได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน รวมทั้งได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา อีกทั้งผู้อุทธรณ์ก็ได้ชำระเงินคืนแก่โรงพยาบาลแล้ว ปรากฏตามใบเสร็จรับเงิน โดยชำระเงินต้น จำนวน 18,415 บาท และดอกเบี้ย จำนวน 14,735 บาท รวมเป็นเงิน 33,150 บาท กรณีนี้จึงถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ตามพยานหลักฐานจึงรับฟังได้ว่า ผู้อุทธรณ์ซึ่งมีหน้าที่เก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากผู้รับบริการที่ห้องเก็บเงิน ได้ออกใบเสร็จรับเงินไม่ตรงกับจำนวนเงินในใบสั่งยาแล้วนำเงินส่วนต่าง จำนวน 18,415 บาท ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ตามนัยมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการไปนั้น ระดับโทษเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ และโดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดระบุในคำสั่งลงโทษว่า ผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ทั้งที่ผู้อุทธรณ์กระทำผิดเมื่อ พ.ศ. 2549 ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ จึงเป็นการปรับบทความผิดที่ไม่ถูกต้อง จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ และให้แก้ไขคำสั่งลงโทษให้เป็นการถูกต้องต่อไป
 
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.