Skip to main content
x
 

ตรวจสอบซักนิดนะจ๊ะ.....

 
            วันนี้  “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอเสนอเรื่องราวของผู้อุทธรณ์รายหนึ่งซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงินแต่ด้วยความไว้ใจผู้ใต้บังคับบัญชา และภารกิจที่มากล้นจนไม่ทันได้ตรวจสอบใบเสร็จรับเงินอย่างละเอียด เป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการทุจริตหลายครั้งรวมเป็นเงินห้าแสนกว่าบาท  สุดท้าย ป.ป.ท. ได้ชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการแก่ผู้อุทธรณ์ด้วย หน่วยงานจึงลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ
            เรื่องนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หน่วยงานแห่งนี้มีนโยบายในการอำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการบำนาญที่มาเบิกค่ารักษาพยาบาล โดยได้มอบหมายให้นางสาว พ. ตรวจสอบใบเสร็จรับเงินและให้เขียนใบขอเบิกที่ได้จัดทำขึ้นเอง โดยระบุเพียงชื่อผู้เบิก และจำนวนเงินเท่านั้น แล้วนำไปขอเบิกเงินทดรองจากผู้อุทธรณ์ จากนั้นนางสาว พ. จะนำเงินไปจ่ายให้ผู้เบิกโดยให้ลงชื่อรับเงินพร้อมทั้งลงชื่อในเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปให้ผู้อุทธรณ์ลงลายมือชื่อเป็นผู้จ่ายเงินและประทับตราว่า จ่ายเงินแล้ว  ซึ่งผู้อุทธรณ์มีภาระงานล้นมือและเชื่อใจลูกน้อง จึงไม่ตรวจสอบใบเสร็จรับเงินที่นำมาใช้เบิกฯ ให้ละเอียด  จึงเป็นเหตุให้นางสาว พ. นำใบเสร็จรับเงินที่ประทับตราจ่ายเงินแล้วมาใช้ซ้ำ
            ก.พ.ค. พิจารณาแล้วจึงเห็นว่า เมื่อหน่วยงานมีนโยบายอำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการบำนาญ โดยจ่ายเงินทดรองราชการค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วจึงให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติในภายหลัง เพื่อไม่ให้ผู้เบิกต้องรอการอนุมัติเป็นเวลานาน กับทั้งเมื่อผู้อุทธรณ์ประทับตราในใบเสร็จรับเงินแล้ว ใบเสร็จรับเงินเหล่านี้จะกลับไปอยู่ในความครอบครองของนางสาว พ. เพื่อนำเรื่องเสนอให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติ  นางสาว พ. จึงอาศัยเป็นช่องทางในการทุจริต  อีกทั้งข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่า ผู้อุทธรณ์เป็นผู้ตรวจพบการทุจริตในครั้งนี้แล้วรายงานตามลำดับชั้นจนมีการดำเนินการทางอาญาและไล่นางสาว พ. ออกจากราชการ อันแสดงให้เห็นว่าผู้อุทธรณ์ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจในการทุจริต  แต่อย่างไรก็ตาม ผู้อุทธรณ์ยังคงมีความผิดจากการที่ผู้อุทธรณ์ไม่ตรวจสอบใบเสร็จรับเงินให้ละเอียด แต่จ่ายเงินทดรองฯ ไปโดยเชื่อเพียงใบเบิกที่นางสาว พ. จัดทำขึ้นเอง  พฤติการณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ และฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้หน่วยงานต้นสังกัดยกเลิกคำสั่งไล่ออก แล้วสั่งลงโทษใหม่เป็นตัดเงินเดือน ในอัตราร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน
            เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์แสดงให้เห็นว่า ข้าราชการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนอย่างละเอียดรอบคอบให้มากที่สุด เพราะหากพลั้งเผลอมิได้ตรวจสอบงานของตนให้ละเอียดแล้ว อาจมีผู้เห็นแก่ตัวสบโอกาสใช้เป็นช่องทางในการทุจริตได้ แล้วตนก็จะต้องรับผลจากการกระทำนั้นด้วย นะ..ขอบอก...
 
ผู้เขียน : จิรัตติ ศรีสวรรค์
(ตีพิมพ์ในจุลสาร "ก.พ.ค. News" ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ตุลาคม - ธันวาคม 2560)
 
ประเภทเนื้อหา
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.