Skip to main content
x

 

ความเป็นกลางของคณะกรรมการคัดเลือกฯ

 

เรื่องดำที่ 6120007  เรื่องแดงที่ 0028261
ผลคำวินิจฉัย  ยกคำร้องทุกข์
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
                    1. กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
                    2. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548
                    3. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
 
                    การที่กรรมการคัดเลือกถูกฟ้องเป็นคดีซึ่งข้ออ้างที่นำไปสู่การฟ้องสืบเนื่องมาจากการเป็นกรรมการคัดเลือกคนละครั้งกรรมการคัดเลือกครั้งหลังจึงมิได้เป็นผู้ยื่นคำขอผู้คัดค้านคำขอผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และมิใช่ผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองเนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง กรรมการคัดเลือกครั้งหลังจึงไม่ถือว่าเป็นคู่กรณี และกรณีที่จะถือได้ว่ามีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคัดเลือกไม่เป็นกลางนั้น  จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องเป็นกรณี ๆ ไปว่ามีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอคติหรือความโกรธเคืองอย่างรุนแรงจากกรรมการคัดเลือกจนอาจทำให้การใช้ดุลพินิจพิจารณาคัดเลือกไม่เป็นกลางหรือไม่

 

ข้อเท็จจริง
                   ส่วนราชการระดับกระทรวงแห่งหนึ่งได้ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการ ระดับชำนาญการ เข้ารับการประเมินผลงานเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ที่ว่าง จำนวน 2 ตำแหน่ง โดย อ.ก.พ. ส่วนราชการแห่งนี้ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย 1) นางสาว ป. รองหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายบริหาร ที่กำกับดูแลงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นประธานกรรมการ 2) นาง น. รองหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายบริหาร เป็นกรรมการ 3) ผู้ช่วยหัวหน้าส่วนราชการเป็นกรรมการ 4) ผู้แทนสำนักงาน ก.พ. เป็นกรรมการ 5) ผู้อำนวยการเป็นเลขานุการ 6) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นผู้ช่วยเลขานุการ 7) ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ที่สุดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้คัดเลือกนางสาว จ. นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้ได้รับคะแนนเฉลี่ยรวมสูงสุดเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มฯ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ) และคัดเลือก นางสาว ว. นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้ได้รับคะแนนเฉลี่ยรวมสูงสุด เข้ารับการประเมินผลงานเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มฯ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ) ผู้ร้องทุกข์เห็นว่า นางสาว ป. และนาง น. กรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 2 คน เป็นคู่กรณีกับผู้ร้องทุกข์ เพราะถูกผู้ร้องทุกข์ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง การดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับการประเมินผลงานและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษในครั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดกับมาตรา 13 (1) และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ขอให้ยกเลิกประกาศผลการคัดเลือกดังกล่าว
 
คำวินิจฉัย
                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางสาว ป. และนาง น.  กรรมการคัดเลือกฯ ถูกผู้ร้องทุกข์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ แต่ข้ออ้างที่นำไปสู่การฟ้องคดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการเลื่อนนาย ภ. นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ เข้ารับการประเมินผลงานเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ซึ่งไม่เกี่ยวกับประกาศฉบับที่ผู้ร้องทุกข์นำมาเป็นมูลเหตุในการร้องทุกข์ในครั้งนี้แต่อย่างใด ดังนั้น นางสาว ป. และ นาง น. กรรมการคัดเลือกฯ จึงมิได้เป็นผู้ยื่นคำขอ ผู้คัดค้านคำขอผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และมิใช่ผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองเนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น กรณีของกรรมการคัดเลือกฯ ทั้งสองคน จึงไม่ถือว่าเป็นคู่กรณีในเรื่องร้องทุกข์นี้ ตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แต่อย่างใด นอกจากนี้ ในการพิจารณาว่ากรณีใดบ้างที่จะถือได้ว่ามีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องเป็นกรณี ๆ ไป ว่ามีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอคติหรือความโกรธเคืองอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้มีอำนาจในการพิจารณาทางปกครองจนอาจทำให้การใช้ดุลพินิจพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏว่าในการดำเนินการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ในครั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ และคู่กรณีในการร้องทุกข์ ได้เห็นชอบให้มีการดำเนินการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ได้ประกาศให้ข้าราชการทราบล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนดตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 อีกทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า นางสาว ป.และนาง น. มีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทเป็นการส่วนตัวกับผู้ร้องทุกข์อันจะทำให้มีพฤติการณ์โน้มเอียงเป็นไปในทางอคติมาก่อน ถึงขนาดมีผลทำให้การใช้ดุลพินิจพิจารณาคัดเลือกข้าราชการในครั้งนี้ไม่มีความเป็นกลาง เพียงแต่มีข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องทุกข์เป็นฝ่ายนำคดีไปฟ้องบุคคลทั้งสองเอง อันสืบเนื่องมาจากการคัดเลือกในครั้งก่อนซึ่งผู้ร้องทุกข์เคยไม่ได้รับการคัดเลือกเท่านั้น ด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำของผู้ร้องทุกข์เองที่นำคดีไปฟ้องบุคคลทั้งสองต่อศาลปกครอง จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางได้แต่อย่างใด  ดังนั้น การที่นางสาว ป. และนาง น.ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคัดเลือกฯ จึงยังไม่ถือว่ามีสภาพร้ายแรงตามนัยมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 คำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องทุกข์
 
วันที่