Skip to main content
x

 

การสอบสวนทางวินัย ไม่ใช่การปฏิบัติราชการโดยทั่วไป

 

                  “เอ่อ......ผมยังไม่ได้รับรายงาน”  “รอให้ผมได้รับรายงานก่อนนะ”
                  สวัสดีครับ ก.พ.ค. ขอบอก ขอเริ่มต้นด้วยวลีฮิตที่ท่านมักได้ยิน ได้เห็น จากข่าวทางสื่อต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ โดยหากมีเรื่องร้อน ประเด็นฮอทเกิดขึ้น ก่อนที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จะให้ข้อมูลหรือชี้แจงใด ๆ ต่อสื่อมวลชน ก็จะต้องรอข้อเท็จจริงและความเห็นที่ได้รับจากรายงานเสียก่อน จึงแสดงให้เห็นได้ว่าการ “รายงาน” นั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ผู้เขียนจึงขอหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการ “รายงาน” ในการปฏิบัติราชการมาเล่าสู่กันฟัง
                  “รายงาน” หมายถึง เรื่องราวที่ได้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและศึกษาค้นคว้า จากนั้นจึงสรุปนำเสนอแก่ผู้บังคับบัญชา ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปการรายงานที่ถูกต้องตามหลักการทางวินัยข้าราชการนั้น โดยปกติจะมีอยู่ 2 กรณีหลัก ๆ คือ การรายงานที่ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง แต่หากเป็นการรายงานเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง ก็ย่อมเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามมาตรา 83 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และอีกกรณีหนึ่งคือการรายงานอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งต้องรายงานตามลำดับชั้นของการบังคับบัญชา หากฝ่าฝืนโดยกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาก็ย่อมเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามมาตรา 83 (2)  แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว  แต่ในที่นี้ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงการ “รายงาน” ที่ไม่ใช่การปฏิบัติราชการโดยปกติทั่วไป นั่นคือ “การรายงานการสอบสวน”
                  “รายงานการสอบสวน” คือ บันทึกสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวน และเสนอความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยตามมาตราใด อย่างไร หรือไม่ โดยอาศัยพยานหลักฐานและเหตุผลว่าเป็นอย่างไร ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยควรได้รับโทษสถานใด ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งการทำรายงานดังกล่าวเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของคณะกรรมการสอบสวน โดยข้อมูลต่าง ๆ ในการสอบสวนทางวินัยถือเป็นความลับของทางราชการ ผู้ที่ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัยในเรื่องนั้น ๆ ไม่อาจเข้ามาร่วมรับรู้ข้อมูลหรือเสนอความเห็นได้ จากที่ผู้เขียนได้เกริ่นมาข้างต้น ท่าน ๆ เคยคิดสงสัยหรือไม่ว่า การส่งรายงานการสอบสวนไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต้องส่งผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นด้วยหรือไม่
                  ในข้อสงสัยนี้ผู้เขียนขอเรียนว่า ก.พ.ค. ได้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยให้ความกระจ่างแล้ว ผู้เขียนจึงขอหยิบยกคำวินิจฉัยมาบอกกล่าวโดยสังเขป ดังนี้
                  เรื่องมีอยู่ว่า ผู้อุทธรณ์ได้โพสต์ข้อความ และรูปภาพเอกสารราชการเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ลงใน Facebook โดยไม่ได้รับอนุญาต นางสาวน้อย (นามสมมติ) ผู้บังคับบัญชาเห็นโพสต์ดังกล่าวของผู้อุทธรณ์ จึงรายงานไปยังคู่กรณีในอุทธรณ์ (ผู้บังคับบัญชาและผู้สั่งลงโทษ) เพื่อให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์ จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงขึ้น ซึ่งผลจากการสอบสวนปรากฏว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง โดยคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดเล็กน้อย ประกอบกับมีเหตุอันควรงดโทษ จึงเสนอความเห็นไว้ในรายงานการสอบสวนว่าสมควรงดโทษแก่ผู้อุทธรณ์ และรายงานผลการสอบสวนทางวินัยไปยังคู่กรณีในอุทธรณ์ซึ่งเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยเสนอผ่านนางสาวน้อย ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้อุทธรณ์ และเป็นผู้บังคับบัญชาของคณะกรรมการสอบสวน 2 ใน 3 คน ต่อมาปรากฏว่า คณะกรรมการสอบสวนได้ทำการแก้ไขความเห็นในรายงานการสอบสวนจากที่เคยเสนอให้งดโทษผู้อุทธรณ์ เปลี่ยนเป็นสมควรลงโทษภาคทัณฑ์ ซึ่งคู่กรณีในอุทธรณ์พิจารณารายงานการสอบสวนฉบับที่มีการแก้ไขแล้วเห็นชอบด้วย จึงมีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ จากนั้นจึงมีการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษมายัง ก.พ.ค. 
                  ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 53 กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนจัดทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งการดำเนินการทางวินัยมิใช่เป็นการปฏิบัติราชการทั่วไป และนางสาวน้อย ไม่ได้เป็นกรรมการสอบสวนจึงไม่มีหน้าที่เสนอความเห็น แต่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสอบสวนจะต้องรายงานการสอบสวนไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยตรง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางสาวน้อย ได้เอาตัวสอดเข้าผูกพันเสนอความเห็น อันเป็นการแทรกแซงและมีผลต่อความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน ทำให้คณะกรรมการสอบสวนเปลี่ยนแปลงความเห็นในรายงานการสอบสวน การดำเนินการทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนจึงไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556
                 จากคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ข้างต้น รายงานการสอบสวนไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือการสอบสวนทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ไม่ใช่การรายงานการปฏิบัติราชการในทางปกติทั่วไปที่จะต้องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่รายงานการสอบสวนถือเป็นการรายงานที่มีลักษณะพิเศษที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยตรง มิฉะนั้นแล้วก็อาจเกิดกรณีแปลงสาส์นให้ข้อเท็จจริงหรือความเห็นผิดเพี้ยนไปได้นะ ขอบอก
ผู้เขียน : ศักดริน  โต๊ะเฮง

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 มาตรา 83 ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่กระทำการใดอันเป็นข้อห้าม ดังต่อไปนี้
                      (1) ต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา การรายงานโดยปกปิดข้อความซึ่งควรต้องแจ้งถือว่าเป็นการรายงานเท็จด้วย
                      (2) ต้องไม่ปฏิบัติราชการอันเป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำหรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่วครั้งคราว
 ข้อ 53 วรรคหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการตามข้อ 52 แล้ว ให้จัดทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามแบบที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด โดยให้เสนอไปพร้อมสำนวน

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่