Skip to main content
x
 

การลงโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ

 
เรื่องดำที่  5910116  เรื่องแดงที่  0059161
ผลคำวินิจฉัย  ยกเลิกคำสั่งลงโทษ
การดำเนินการทางวินัย   คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล
 
                    เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการพลเรือนสามัญภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พ้นจากราชการเนื่องจากเกษียณอายุ  กรณีจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น)  ผู้บังคับบัญชาจึงไม่มีอำนาจพิจารณาโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้
 

ข้อเท็จจริง

                    ผู้อุทธรณ์ เดิมรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 8 สำนักงานที่ดินจังหวัดแห่งหนึ่ง โดยผู้อุทธรณ์ได้เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547  ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนผู้อุทธรณ์ในเรื่องการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ได้อนุญาตให้นายช่างรังวัดดำเนินการเบิกแบบพิมพ์เพื่อทำการรังวัดสอบสวนแปลงที่ดินและเขียนรูปแผนที่ แล้วเสนอผู้อุทธรณ์เพื่อลงนามออกโฉนดที่ดิน  แต่ปรากฏว่ามีการออกโฉนดที่ดินจำนวน 3 แปลง ในเขตที่ราชพัสดุกองทัพอากาศใช้เป็นสนามฝึกอาวุธทางอากาศ  และนายช่างรังวัดได้นำโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงส่งมอบให้แก่ผู้ขอออกโฉนดและได้เรียกเงินเป็นค่าตอบแทน  โดยผู้อุทธรณ์มิได้กำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่จนเป็นเหตุให้มีการนำแบบพิมพ์โฉนดที่ดินฉบับจริงไปดำเนินการปลอมโฉนดที่ดิน โดยมีการปลอมชื่อของผู้อุทธรณ์  ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทําของผู้อุทธรณ์ดังกล่าวมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานกระทําการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  หลังจากนั้น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งรายงานและเอกสารพร้อมความเห็นให้อธิบดีกรมที่ดินเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์ตามฐานความผิดดังกล่าว  อธิบดีกรมที่ดินพิจารณาแล้วจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  ผู้อุทธรณ์จึงอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อก.พ.ค.
 

คำวินิจฉัย

                    ก.พ.ค. เสียงข้างมาก ได้พิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 แล้วเห็นว่า  เรื่องนี้ผู้อุทธรณ์เกษียณอายุราชการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547  ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนผู้อุทธรณ์  จึงเป็นการดำเนินการทางวินัยเมื่อล่วงพ้นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่ผู้อุทธรณ์พ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ  กรณีของผู้อุทธรณ์จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) ที่คู่กรณีในอุทธรณ์จะดำเนินการสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้  การที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษดังกล่าว
                    นอกจากนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ  ส่วนพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายทั่วไป  แม้โดยหลักการของกฎหมายจะยอมรับกันว่า หากเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เป็นหลัก  ไม่อาจนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาใช้บังคับได้ก็ตาม  แต่เนื่องจากมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 บัญญัติให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก และให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 พิจารณาลงโทษข้าราชการพลเรือนสามัญตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ  เพราะฉะนั้นก่อนที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะพิจารณาลงโทษข้าราชการพลเรือนสามัญตามสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.  กรณีจึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบว่าการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรือไม่  ด้วยเหตุนี้จึงสามารถนำมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาใช้บังคับกับกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดได้
 
วันที่