Skip to main content
x

 

“วินัยกับข้าราชการที่ถูกจำคุก” เรื่องง่ายๆ ที่ (อาจ) ไม่ง่าย ตอนที่ 2

 

          สวัสดีครับ วันนี้ ก.พ.ค. ขอบอก จะมาพูดคุยกับท่านผู้อ่านต่อในกรณีข้าราชการพลเรือนสามัญถูกลงโทษจำคุก ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า กรณีที่ข้าราชการได้กระทำความผิดอาญาเมื่อครั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ และต่อมาได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด ในขณะที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับแล้ว การปรับบทความผิดทางวินัยจะต้องใช้กฎหมายฉบับใด ประเด็นปัญหานี้มีคำตอบให้ทุกท่านหายสงสัยกันแล้ว ตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ที่ผู้เขียนจะขอหยิบยกมาบอกเล่าให้รับทราบตามลำดับทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้
          โดยข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2549 ข้าราชการรายหนึ่งได้ใช้อาวุธปืนยิงเพื่อนบ้าน 3 นัดซ้อนจนเสียชีวิต เนื่องจากปมปัญหาขัดแย้งในเรื่องที่ดินและการรุกล้ำที่ดิน จนเป็นเหตุให้ข้าราชการรายนี้ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาฆ่าผู้อื่น และความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน โดยศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อ 4 กันยายน 2557 ให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 21 ปี ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ข้าราชการรายนี้ออกจากราชการ ฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก ตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ข้าราชการรายนี้จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค.  
          ก.พ.ค. ได้พิจารณาเรื่องนี้แล้วเห็นว่า จากพฤติการณ์แห่งการกระทำผิด การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการนั้น เหมาะสมแก่กรณีแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ศาลจังหวัดได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ว่า ผู้อุทธรณ์มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและในความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยพิพากษายืนให้จำคุกผู้อุทธรณ์ รวม 21 ปี ซึ่งในขณะที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกผู้อุทธรณ์นั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้มีผลบังคับแล้ว การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์โดยปรับบทความผิดทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จึงเป็นการปรับบทความผิดทางวินัยที่ไม่ถูกต้อง ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแก้ไขคำสั่งลงโทษ โดยให้ปรับบทความผิดเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ตามมาตรา 85 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. เรื่องดำที่ 5910196 เรื่องแดงที่ 0009160
          จากคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอสรุปว่า ในการปรับบทความผิดทางวินัยนั้น ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งลงโทษในฐานความผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ข้าราชการกระทำความผิดวินัยซึ่งกรณีข้าราชการกระทำผิดวินัยฐานได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ต้องถือว่าวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับโทษจำคุก คือวันที่ได้กระทำความผิดวินัยตามฐานนี้นะ...ขอบอก
ผู้เขียน : ศักดริน  โต๊ะเฮง
ประเภทเนื้อหา
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.