Skip to main content
x

 

อุทธรณ์ที่ไม่มีสาระสำคัญ 

 

เรื่องดำที่   6010198   เรื่องแดงที่   0035161
ผลคำวินิจฉัย  ไม่รับไว้พิจารณา
การดำเนินการทางวินัย ต้นสังกัดดำเนินการเอง

 

                   คำอุทธรณ์ที่ไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ และไม่มีการลงลายมือชื่อในหนังสืออุทธรณ์ ถือเป็นอุทธรณ์ที่ไม่มีสาระสำคัญและเมื่อสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำอุทธรณ์ให้สมบูรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว  หากไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามไว้พิจารณา และระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษเป็นระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งไม่สามารถที่จะย่นหรือขยายได้

 

ข้อเท็จจริง

                   ผู้อุทธรณ์ เดิมรับราชการตำแหน่งพนักงานคุมประพฤติชำนาญการ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดแห่งหนึ่ง ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด  ได้เรียกรับเงินจากมารดาและภรรยาของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ในคดีที่ตนรับผิดชอบ โดยอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้รับการปล่อยตัวได้ แต่ต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการช่วยเหลือทางคดี มารดาและภรรยาของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จึงมอบเงินจำนวน 5,000 บาท เพื่อตอบแทนความช่วยเหลือดังกล่าว ต่อมาก็ได้เรียกรับเงินจากมารดาและภรรยาของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพิ่มอีก จำนวน 3,000 บาท โดยอ้างว่าจะนำไปให้ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอีก 7 คน แต่ขณะนั้นมารดาและภรรยาของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีเงินอยู่เพียงจำนวน 2,000 บาท จึงมอบเงินสดจำนวน 2,000 บาท ให้ ที่สุดอธิบดีกรมคุมประพฤติได้สั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
                  ผู้อุทธรณ์จึงอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. โดยมีเนื้อความว่า “มีความประสงค์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ แต่ไม่สามารถดำเนินการอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ได้ จึงขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ออกไปอีกเป็นเวลา 30 วัน” ซึ่งหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าวไม่ปรากฏการลงลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์แต่อย่างใด ก.พ.ค. จึงมีหนังสือให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขเพิ่มเติมหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว พร้อมกับแจ้งว่าระยะเวลาอุทธรณ์เป็นระยะเวลาตามกฎหมายซึ่งไม่สามารถที่จะย่นหรือขยายระยะเวลาให้ได้ หากผู้อุทธรณ์ไม่ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด จะพิจารณาไม่รับอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ และเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่กำหนดไม่ปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ได้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสืออุทธรณ์แต่อย่างใด                                                     
 

คำวินิจฉัย

                 ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่าคำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ และไม่มีการลงลายมือชื่อในหนังสืออุทธรณ์ด้วย จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่มีสาระสำคัญตามข้อ 27 (3) (5) ซึ่งต้องห้ามมิให้รับไว้พิจารณาตามข้อ 49 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 จึงมีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องอุทธรณ์ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายออกจากสารบบ

 

วันที่