Skip to main content
x

 

“วินัยกับข้าราชการที่ถูกจำคุก” เรื่องง่ายๆ ที่ (อาจ) ไม่ง่าย  ตอนที่ 1

 

          หลายท่านที่เป็นนิติกร หรือผู้ปฏิบัติงานด้านวินัย ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่ถูกจำคุกในสังกัดของท่าน คงยิ้มกริ่มและพร้อมรับดำเนินการให้ ในใจก็พลางคิดว่า “งานกล้วยๆ งานหมูๆ” แต่ผู้เขียนขอบอกเลยว่า หากท่านชะล่าใจก็อาจพลาดพลั้ง จากงานกล้วยเปลือกบาง กลายเป็นเปลือกหนามทุเรียน หรือกลายเป็นหมูป่าเขี้ยวตันก็ได้ อย่ากระนั้นเลย เรามาทบทวนในหลายๆ ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องนี้กันดีกว่า
          ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญถูกคำพิพากษาลงโทษให้จำคุก ทุกๆ ท่านก็คงจะนึกถึงการดำเนินการทางวินัยซึ่งเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง แต่ในความเป็นจริงก็มีหลายๆ กรณีที่ไม่ใช่กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งอย่างที่ท่านๆ คิด ผู้เขียนจึงขอทบทวนเงื่อนไขในกรณีนี้เสียก่อน ก่อนที่เราจะคุยในประเด็นสำคัญต่อไป
          โดยกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งในเรื่อง “ถูกจำคุก” นั้น มีการกำหนดไว้ในมาตรา 95 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 65 (2) ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้
          1)  กระทำความผิดอาญาที่มิใช่การกระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ*
          2)  ต้องได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักว่าจำคุก (โทษประหารชีวิต) โดยไม่ว่าผู้นั้นจะมาฟังคำพิพากษาและได้รับโทษ หรือหลบหนีคดีก็ตาม แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่ศาลพิจารณาให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ
          3)  โดยคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งคดีอาจจะถึงที่สุดโดยคำพิพากษาในชั้นศาลฎีกา หรือกรณีที่ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา ภายในระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกา
          เมื่อเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อข้างต้น ท่านก็สามารถดำเนินการทางวินัยในกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งโดยไม่ต้องสอบสวน หรืองดการสอบสวนก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่าในการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ต้องมีการส่งเรื่องให้ อ.ก.พ.สามัญ พิจารณามีมติตามมาตรา 97 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เสียก่อน
          ณ จุดนี้ ผู้เขียนหวังว่าเงื่อนไขข้างต้น จะเป็นเหมือน Checklist ให้ท่านได้ใช้เป็นตัวช่วยในการพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการในกรณีถูกจำคุกได้อย่างถูกต้อง
          จบการทบทวนเรื่องแรกแล้ว ผู้เขียนขอเข้าเรื่องประเด็นสำคัญๆ ที่อยากหยิบยกมาคุยกับท่าน โดยในประเด็นแรก คือ การลงโทษทางวินัยซ้ำกับกรณีข้าราชการที่ถูกจำคุก
          เราคงกล่าวได้ว่าพฤติการณ์อันเป็นความผิดทางอาญาล้วนเข้าข่ายเป็นความผิดทางวินัยทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่คดีวินัยกับคดีอาญาจะมีการดำเนินการควบคู่กันไป โดยมีหลายๆ เรื่องที่คดีวินัยได้พิจารณาและสั่งลงโทษเสร็จสิ้นไปก่อนคดีอาญา ซึ่งก็จะนำพาปัญหาที่ท่านๆ มักจะได้พบเจอเช่น มีการลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงไปแล้ว แต่ต่อมาในเรื่องเดียวกันศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ข้าราชการผู้นั้นได้รับโทษจำคุก เราจะดำเนินการอย่างไรต่อไปดี
          ในประเด็นนี้ ก.พ. ได้เคยพิจารณาว่า เมื่อข้าราชการกระทำผิดวินัยและถูกสั่งลงโทษ สั่งงดโทษ หรือสั่งยุติเรื่อง และแม้จะมีกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินออกมาใช้บังคับ ทำให้บุคคลดังกล่าวได้รับการล้างมลทินแล้วก็ตาม แต่เมื่อบุคคลดังกล่าวถูกศาลพิพากษาจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในภายหลัง แม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม ก็สามารถลงโทษทางวินัยฐานกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกได้อีก และไม่ถือเป็นการลงโทษทางวินัยซ้ำ ทั้งนี้ เพราะเป็นความผิดคนละฐานกับความผิดที่เคยถูกดำเนินการทางวินัย และได้รับการล้างมลทินดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ความผิดฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกภายหลังนี้จึงไม่ได้รับการล้างมลทินแต่อย่างใด**
          จากความเห็นของ ก.พ. ดังกล่าวทุกท่านคงจะได้ความกระจ่างแล้วว่า เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญถูกลงโทษจำคุก ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นย่อมสามารถดำเนินการทางวินัยได้ แม้ในเรื่องเดียวกันจะเคยพิจารณาและสั่งลงโทษทางวินัยไปแล้ว โดยถือเป็นคนละฐานความผิด และไม่เป็นการลงโทษทางวินัยซ้ำแต่อย่างใด
          ผู้เขียนยังคุยประเด็นเกี่ยวกับ “ถูกจำคุก” ไปไม่เท่าไหร่ ก็ดูเหมือนว่าจะยืดยาวเกินกว่าที่ผู้เขียนจะคุยกับท่านๆ ได้จบในคราวเดียว ผู้เขียนคงต้องขอติดในประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญไว้ในคราวหน้า แล้วพบกันใหม่กับ “วินัยกับข้าราชการที่ถูกจำคุก” เรื่องง่ายๆ ที่ (อาจ) ไม่ง่าย ตอนที่ 2 สวัสดีครับ
ผู้เขียน : ศักดริน  โต๊ะเฮง
หมายเหตุ
* มาตรา 102 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
** หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1011/ว 13 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2547 เรื่อง การลงโทษข้าราชการกรณีถูกศาลพิพากษาจำคุกในเรื่องที่เคยถูกดำเนินการทางวินัยมาก่อน

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่