Skip to main content
x

 

เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด

 

             ครั้งนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยที่ปรากฏในมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อีกครั้ง เนื่องจากเป็นฐานความผิดที่แม้จะถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ก็ยังปรากฏว่ามีผู้กระทำผิดในเรื่องนี้อยู่มากพอสมควร ซึ่งความผิดในมาตราดังกล่าวจะปรากฏอยู่สองส่วน คือ
              ส่วนที่ 1. การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือ
              ส่วนที่ 2. การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต
             โดยใน ก.พ.ค. ขอบอกครั้งนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนที่มีผู้กระทำผิดมากที่สุด นั่นคือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต
             สำหรับความผิดในส่วนที่ 2 นี้ หมายถึง การที่ผู้นั้นมีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติ และได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวโดยมิชอบ หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวโดยจงใจหรือเจตนาไม่ปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเรื่องพลั้งเผลอ หรือเข้าใจผิด ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่มิชอบดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ แบบธรรมเนียมของทางราชการ และที่สำคัญที่ทำให้มาตรานี้พิเศษกว่ามาตราอื่นๆ คือ จะต้องมีเจตนาพิเศษ กล่าวคือ มีเจตนาเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ด้วย ดังนั้น หากผู้นั้นมีหน้าที่ราชการ แต่จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ก็ถือว่าเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการแล้ว
                จากคำอธิบายข้างต้น ก.พ.ค. ขอบอก จึงขอนำเสนอตัวอย่างการวินิจฉัยของ ก.พ.ค. เรื่องหนึ่ง ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าตนเองจะไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากการกระทำนั้นก็ตาม ก็อาจเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการได้
                เรื่องนี้เป็นกรณีที่ผู้อุทธรณ์เป็นเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญงาน สังกัดเรือนจำแห่งหนึ่ง ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง  ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กรณีได้นำรองเท้า จำนวน ๓๐๐ คู่ ของบุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญาจ้างแรงงานเข้าไปให้ผู้ต้องขังเย็บภายในเรือนจำ โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
                ผู้อุทธรณ์จึงได้มายื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษเรื่องนี้ ต่อ ก.พ.ค. โดยยอมรับว่าตนไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เนื่องจากในคืนก่อนวันเกิดเหตุ คนรู้จักคนหนึ่งได้โทรศัพท์มาหาว่ามีเพื่อนชื่อนาย ว. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างของเรือนจำให้เย็บรองเท้าอยู่แล้ว ประสบปัญหาผลิตรองเท้าไม่เสร็จตามกำหนด จึงขอให้ตนช่วยเหลือด้วยการนำรองเท้าจำนวน 300 คู่เข้าไปให้ผู้ต้องขังเย็บเพื่อให้ทันกำหนดเวลา โดยคนรู้จักบอกกับตนว่า นาย ว. จะดำเนินการทางเอกสารกับฝ่ายฝึกวิชาชีพของเรือนจำในภายหลังเอง ตนไม่ได้รู้จักนาย ว. มาก่อน รวมทั้งไม่ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนจากทั้งคนรู้จักหรือนาย ว. แต่อย่างใด
                   ก.พ.ค. พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังทำงานเย็บรองเท้า ตลอดจนดูแลความสงบเรียบร้อยภายในกองงานไม่ให้ผู้ต้องขังกระทำผิดวินัย และขับรถรับส่งวัสดุสินค้าแรงงานจ้าง รวมทั้งตรวจสอบเอกสารของผู้ว่าจ้างและเรือนจำให้ถูกต้อง ก่อนการนำรองเท้าเข้าไปเย็บในเรือนจำ ซึ่งกรณีนี้ผู้อุทธรณ์ยอมรับผิดว่าไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ และในชั้นการสอบสวนทางวินัย ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้อุทธรณ์ได้ออกไปดูรถยนต์ของนาย ว. ตามที่นัดไว้ว่าจะนำรองเท้าจำนวน 300 คู่ เข้ามาเย็บในเรือนจำ จากนั้นได้ขับรถยนต์ดังกล่าวด้วยตัวเอง เพื่อนำรองเท้าเข้าไปเย็บในเรือนจำ โดยไม่ดำเนินการตรวจสอบ ดังนี้ 1. ไม่ตรวจสอบว่านาย ว. มีเอกสารใบส่งวัสดุเข้าสำหรับจ้างแรงงานผู้ต้องขังที่ทางฝ่ายฝึกวิชาชีพฯ ของเรือนจำเป็นผู้ออกให้ เพื่อให้ผู้ว่าจ้างที่ทำสัญญาจ้างแรงงานผู้ต้องขังกับทางเรือนจำนำวัสดุเข้ามาในเรือนจำได้ 2. ไม่ตรวจสอบว่ามีใบส่งวัสดุสำเร็จออกสำหรับจ้างแรงงานผู้ต้องขังที่เจ้าหน้าที่โรงงานหรือกองงานเป็นผู้ออกให้เมื่อมีการตรวจนับจำนวนวัสดุที่จัดทำเรียบร้อยแล้วตามสัญญาจ้าง ก่อนที่จะขับรถยนต์นำรองเท้าที่เย็บเสร็จแล้วออกนอกเรือนจำ ซึ่งเอกสารทั้งสองอย่างดังกล่าวข้างต้นเป็นเอกสารที่ทางเรือนจำกำหนดไว้ว่าจะต้องมีในการตรวจสอบวัสดุที่นำเข้าออกเรือนจำสำหรับจ้างแรงงานผู้ต้องขัง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าไม่มีการชำระค่าเย็บรองเท้าให้กับทางเรือนจำ และผู้อุทธรณ์ก็ยอมรับว่าเป็นการช่วยนาย ว. ที่ประสบปัญหาผลิตรองเท้าไม่เสร็จตามกำหนดอีกด้วย ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่า ผู้อุทธรณ์ทราบอยู่แล้วว่ารองเท้าดังกล่าวเป็นของบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาจ้างกับเรือนจำ แม้จะไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ผู้อุทธรณ์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ แต่การที่ ผู้อุทธรณ์มีเจตนาที่นำรองเท้าของบุคคลภายนอกเข้ามาให้ผู้ต้องขังเย็บจนสำเร็จเพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตรองเท้าไม่เสร็จตามกำหนด ก็ถือว่ามีเจตนาเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้แล้วจึงเข้าองค์ประกอบความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  ดังนั้นคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ในกรณีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
                   เรื่องนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าหากข้าราชการผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้ตนเองจะไม่ได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้นก็ตาม แต่หากกระทำเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้แล้ว ก็ยังคงมีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่ต้องลงโทษไล่ออกจากราชการสถานเดียว!!! นะ..ขอบอก...       
ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ
ประเภทเนื้อหา
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.