Skip to main content
x

               

คืนเงินที่ทุจริตไม่เป็นเหตุลดโทษ

 

               หลายครั้งที่ “ก.พ.ค. ขอบอก” ได้เคยนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับโทษทางวินัยของความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการว่ามีความร้ายแรงเพียงใด ครั้งนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าความผิดฐานทุจริตนั้น แม้ผู้ที่กระทำจะสำนึกหรือยอมรับผิดก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้ผู้นั้นได้รับการลดโทษแต่อย่างใด
                 นาง ส. เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน สังกัดโรงพยาบาลแห่งหนึ่งถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ กรณีได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (เบี้ยขยัน) ของลูกจ้างชั่วคราว ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานส่งเบิกเงินค่าตอบแทนพิเศษเกินกว่าระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและจำนวนเงินที่ต้องจ่ายจริง เสนอหัวหน้าฝ่ายการเงินเพื่อเบิกจ่าย แล้วเก็บเงินที่เหลือจ่ายในแต่ละเดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2555 รวมเป็นเงินจำนวน 20,850 บาท ไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่นำเงินส่งคืนโรงพยาบาลในทันที แต่ได้นำมาส่งคืนในภายหลัง
                นาง ส. ได้มายื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษเรื่องนี้ ต่อ ก.พ.ค. โดยอ้างว่าตนมีภาระงานจำนวนมาก และเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเวลาและค่าตอบแทนบ่าย-ดึก ให้ลูกจ้างชั่วคราวได้ทันภายในวันที่ 15 ของเดือน ตนจึงรวบรวมเอกสารการขอเบิกเงินที่แต่ละหน่วยงานส่งมา เพื่อทำเรื่องขออนุมัติเบิกเงินไปก่อนโดยยังไม่ได้ตรวจสอบวันลา เมื่อมีเงินเหลือหลังจากจ่ายให้กับลูกจ้างชั่วคราวแล้ว ตนได้เก็บเงินสดดังกล่าวไว้กับตัว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554ถึงเดือนสิงหาคม 2555 เนื่องจากที่บ้านตนมีน้ำท่วมขังเกือบ 2 เมตร จึงมีความลำบากในการเดินทางมาปฏิบัติงาน ประกอบกับบิดาป่วย ทำให้ต้องเดินทางไปกลับระหว่างบ้านพักกับบ้านพ่อ ทำให้ตนเกิดภาวะเครียด ประกอบกับตนเข้าใจว่าสามารถคืนเงินได้หลังสิ้นปีงบประมาณ จึงหลงลืมที่จะส่งเงินจำนวน 20,850 บาท คืนให้ทางโรงพยาบาล แต่ตนก็ไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด เพราะได้เก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานตลอดเวลา และตนได้แจ้งให้หัวหน้าการเงินรับทราบทุกเดือนตามเอกสารสรุปค่าตอบแทนลูกจ้างชั่วคราวแล้ว
                   ก.พ.ค. พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์มีหน้าที่ราชการที่ต้องปฏิบัติทั้งโดยตำแหน่งและจากคำสั่งมอบหมายของผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ (เบี้ยขยัน) ให้กับลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาล ได้ดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาล ส่งเอกสารคำขอเบิกตามแบบการเพิ่มค่าตอบแทนลูกจ้างชั่วคราวมาที่ตนเอง เพื่อรวบรวมคำขอเบิกรวมยอดเงินและจัดทำบันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายตามยอดเงินที่หน่วยงานต่างๆ ขอเบิก และส่งให้กลุ่มงานบุคลากรตรวจสอบและหักวันลาของลูกจ้างชั่วคราวภายหลัง เมื่อถึงเวลาจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (เบี้ยขยัน) ให้ลูกจ้างชั่วคราว ผู้อุทธรณ์ได้จ่ายเงินให้ตามยอดเงินที่กลุ่มงานบุคลากรตรวจสอบ หักวันลา และหักเงินค่าตอบแทนสำหรับวันลาแล้ว ทำให้เงินที่ขออนุมัติจ่ายกับเงินที่จ่ายจริงมีส่วนต่างเหลือจ่ายในแต่ละเดือน รวมจำนวน 20,850 บาท ซึ่งผู้อุทธรณ์ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีและปฏิบัติหน้าที่ด้านการเงินมาแล้ว 18 ปี และรับราชการที่โรงพยาบาลแห่งนี้มา 7 ปี ย่อมต้องทราบการปฏิบัติงานทางด้านการเงินตามระเบียบของทางราชการและแบบแผนขั้นตอนการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลเป็นอย่างดี ว่ากรณีมีเงินเหลือจ่าย จะต้องนำเงินส่งคืนโดยเร็ว ตามข้อ 95 วรรคหนึ่ง ของระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อฝ่ายการเงินได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้วพบว่ายอดเงินที่ขออนุมัติเบิกจ่ายกับยอดเงินที่จ่ายจริงไม่ตรงกัน ผู้อุทธรณ์ก็ได้จัดทำหลักฐานขึ้นใหม่โดยให้ยอดเงินที่จ่ายตรงกับยอดเงินที่ขออนุมัติเบิกจ่าย ทำให้เห็นเจตนาของผู้อุทธรณ์ว่าต้องการที่จะปกปิดการกระทำผิดของตนเอง ส่วนการที่ผู้อุทธรณ์อ้างว่าไม่ได้นำเงินที่เหลือจ่ายไปใช้เป็นประโยชน์เพื่อตัวเองหรือผู้อื่น แต่เก็บเงินดังกล่าวไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานตลอดเวลานั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ทราบเรื่องที่มีการตรวจสอบพบความผิดปกติจากการที่หัวหน้างานการเงินและบัญชีได้สั่งการให้ตรวจสอบและได้ให้ผู้อุทธรณ์ชี้แจง ซึ่งหากผู้อุทธรณ์เก็บเงินจำนวนดังกล่าวในลิ้นชักโต๊ะจริง ก็ควรที่จะสามารถคืนเงินได้ทันทีตั้งแต่หัวหน้างานการเงินเรียกให้ผู้อุทธรณ์ชี้แจง หรือตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูล หรือเมื่อผู้อุทธรณ์มาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ผู้อุทธรณ์กลับไม่สามารถส่งเงินจำนวนดังกล่าวคืนได้ทันที แต่ได้นำเงินมาคืนในภายหลัง ส่อให้เห็นเจตนาว่าเก็บเงินไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือผู้อื่น พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ดังนั้นคำสั่งลงโทษไล่นาง ส. ออกจากราชการ ในกรณีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
                   เรื่องนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าหากข้าราชการผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้แล้ว แม้ข้าราชการผู้นั้นจะนำประโยชน์ต่างๆ เหล่านั้นมาคืน ก็ไม่ได้ทำให้โทษที่ตนจะได้รับลดจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการได้นะ..ขอบอก...
ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ
ประเภทเนื้อหา
วันที่