Skip to main content
x

 

เงื่อนไขการร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. 

 

                 “ก.พ.ค. ขอบอก” ฉบับนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวความคับข้องใจที่ร้องมายัง ก.พ.ค. เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัย แต่ปรากฏว่าบางเรื่องไม่ใช่เรื่องร้องทุกข์ตามความหมายของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และหลายเรื่องไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของ ก.พ.ค. ทำให้ ก.พ.ค. ต้องจำหน่ายเรื่องดังกล่าวออกจากสารบบ เช่น เรื่องของอดีตข้าราชการพลเรือนสามัญผู้หนึ่งที่ได้ลาออกจากราชการไปแล้วแต่ภายหลังคิดจะกลับเข้ามารับราชการใหม่ จึงยื่นหนังสือถึงกรมต้นสังกัดเดิมเพื่อขอให้พิจารณารับตนกลับเข้ารับราชการ แต่กรมก็นิ่งเฉย แม้จะมีหนังสือทวงถามถึงผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวก็ตาม อดีตข้าราชการผู้นี้จึงได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ซึ่ง ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องทุกข์รายนี้มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญอยู่ในขณะที่ร้องทุกข์ ดังนั้น จึงไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
                  รายที่สองเป็นเรื่องของข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีความคับข้องใจจากการที่อธิบดีกรมเจ้าสังกัดไม่มีคำสั่งโยกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งตามความประสงค์ อีกทั้งยังเคลือบแคลงสงสัยว่าการที่ตนไม่ได้โยกย้ายไปนั้น เกิดจากผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่เสนอข้อมูลเท็จต่อคณะกรรมการผู้พิจารณาเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ จึงได้ร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค.  ซึ่ง ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นกรณีที่เหตุแห่งความคับข้องใจเกิดจากอธิบดีจึงต้องร้องทุกข์ไปยังปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าว ส่วนความเคลือบแคลงสงสัยของผู้ร้องต่อการกระทำของผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ มิได้เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา ในส่วนนี้ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องทุกข์ได้
                 จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีผู้เข้าใจผิดเรื่องร้องทุกข์อยู่พอสมควร จนทำให้เสียสิทธิในการร้องทุกข์ไปยังผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมาย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก จึงขอสรุปเงื่อนไขของการร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดว่า ผู้ที่จะร้องทุกข์ได้
1. ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
2. มีความคับข้องใจจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตของผู้บังคับบัญชา กล่าวคือ ไม่สามารถจะร้องทุกข์แทนใครได้
3. เหตุแห่งการร้องทุกข์มีลักษณะตามที่กำหนด (ข้อ 7 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์ฯ) และเหตุดังกล่าวจะต้องเกิดจากผู้บังคับบัญชาเท่านั้น
4. เป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้
5. ต้องยื่นคำร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ โดยถ้าเป็นกรณีการร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค. ผู้ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์จะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ดังต่อไปนี้
- หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี
- ปลัดกระทรวง
- รัฐมนตรีเจ้าสังกัด
- นายกรัฐมนตรี
6. ได้ยื่นร้องทุกข์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งทุกข์
                   ดังนั้น หากผู้ใดที่มีความคับข้องใจจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาแล้วประสงค์จะร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ก็ต้องพิจารณาดูให้ดีก่อนว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายหรือไม่ เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลาหรือเสียสิทธิในการร้องทุกข์นะ..ขอบอก
 
ผู้เขียน : กรกนก ตรีรัตนพันธ์
(ตีพิมพ์ในจุลสาร "ก.พ.ค. News" ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เมษายน - มิถุนายน 2561)
 
ประเภทเนื้อหา
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.