Skip to main content
x

 

หลอกลวงเพื่อนร่วมงานให้นำไปเงินไปร่วมลงทุนอันเป็นเท็จ

 

เรื่องดำที่  5910088  เรื่องแดงที่  0085160 
ผลคำวินิจฉัย  ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย  ต้นสังกัดดำเนินการเอง   
 
ข้อเท็จจริง
              ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้รับรายงานว่า สถานีตำรวจภูธรเมืองได้ดำเนินคดีอาญากับผู้อุทธรณ์ซึ่งรับราชการตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการอยู่ในขณะนั้น ในข้อหาร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์  จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้อุทธรณ์ในเวลาต่อมา  จากการสอบสวน พยานหลักฐานต่าง ๆ เชื่อได้ว่า ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ผู้อุทธรณ์ได้พูดชักชวนผู้เสียหายจำนวน 11 ราย ให้นำเงินไปลงทุนกับนาง ว. พี่สะใภ้ของตน  โดยบอกว่าต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อลงทุนค้าขายที่ตลาดคลองถม และเสนอผลตอบแทนให้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน  เป็นผลให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและนำเงินมามอบให้หรือโอนเงินให้ผู้อุทธรณ์โดยผู้อุทธรณ์รับไว้ ทั้งนี้ไม่ว่าผู้อุทธรณ์จะรับไว้เพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างหรือในฐานะอื่นใดก็ตาม จากนั้นได้มีการตกลงจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราสูงเป็นเครื่องล่อใจ โดยปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งที่ผู้อุทธรณ์ไม่ได้นำเงินไปประกอบกิจการใด ๆ ที่จะได้ผลตอบแทนเพียงพอที่จะให้แก่ผู้ลงทุนได้ แต่ใช้วิธีนำเงินที่ได้จากผู้ร่วมลงทุนรายหลังมาหมุนเวียนจ่ายเป็นผลตอบแทนให้แก่ผู้ที่ลงทุนไว้ก่อน โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบกิจการใด ๆ เลย ผู้อุทธรณ์ไม่มีพยานหรือหลักฐานใดที่สามารถนำมาหักล้างข้อกล่าวหาได้ อีกทั้งผู้อุทธรณ์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1068/2558 ได้ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นลักษณะการฉ้อโกงประชาชน  จึงเห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์เป็นการกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ควรลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่เนื่องจากมีเหตุอันควรปรานีลดหย่อนโทษ จึงเห็นควรลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม โดยมติ อ.ก.พ. จังหวัด พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย  ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามจึงมีคำสั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ
              นอกจากนี้ ผู้เสียหายทั้ง 11 ราย ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญากับผู้อุทธรณ์ และพนักงานสอบสวนได้เป็นโจทก์ฟ้องผู้อุทธรณ์เป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลจังหวัดมหาสารคามได้มีคำพิพากษาว่า ผู้อุทธรณ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83  โดยศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
 
คำวินิจฉัย
              ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  เรื่องนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ผู้อุทธรณ์ได้กระทำความผิดตามที่ถูกลงโทษหรือไม่  ในเรื่องนี้ปรากฏตามคำพิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคามตามที่กล่าวมาข้างต้น  ประกอบกับถ้อยคำของผู้เสียหายทั้ง 11 รายที่ได้ให้ข้อเท็จจริงสอดคล้องกัน  จึงฟังได้ว่าเมื่อระหว่างวันที่ 24 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ผู้อุทธรณ์ได้พูดชักชวนผู้เสียหายทั้ง 11 รายให้นำเงินไปลงทุนกับนาง ว. พี่สะใภ้ของตน  โดยบอกว่าต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อลงทุนค้าขายที่ตลาดคลองถมในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  และเสนอผลตอบแทนให้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน  โดยผู้อุทธรณ์รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้นำเงินไปลงทุนและไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนสูงพอที่จ่ายให้แก่ผู้ร่วมลงทุนตามที่หลอกลวง แต่ใช้วิธีนำเงินที่ได้จากผู้เสียหายมาหมุนเวียนจ่ายเป็นผลตอบแทน  เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้ง 11 ราย หลงเชื่อและให้เงินแก่ผู้อุทธรณ์เพื่อไปลงทุนตามคำชักชวน  ในช่วงแรกผู้เสียหายทั้ง 11 ราย ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้อุทธรณ์  ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2557 ผู้อุทธรณ์แจ้งว่าไม่สามารถติดต่อนาง ว. ได้ และนาง ว. ไม่นำเงินผลประโยชน์ตอบแทนมาให้  ผู้อุทธรณ์ไม่สามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เสียหายทั้ง 11 ราย  จึงมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองมหาสารคาม เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้อุทธรณ์  จนมีการฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งผู้อุทธรณ์ในฐานะจำเลยได้ให้การรับสารภาพตามคำฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ว่าผู้อุทธรณ์มีความผิดฐานฉ้อโกงและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 และมาตรา 12  ข้อนี้จึงเป็นที่ยุติว่าผู้อุทธรณ์ได้กระทำการฉ้อโกงทรัพย์และกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดทางอาญา  เมื่อผู้อุทธรณ์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สังกัดโรงพยาบาล ก. ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเสียสละในการทำงานให้บริการแก่ผู้เจ็บป่วยโดยไม่เลือกชั้นวรรณะหรือความน่ารังเกียจของอาการเจ็บป่วย  จึงเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม  วิญญูชนโดยทั่วไปในสังคมจึงให้ความนับถือ ยกย่อง และให้เกียรติมากกว่าประชาชนทั่วไป  การที่ผู้อุทธรณ์มีความประพฤติที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต โดยอาศัยความรู้จักคุ้นเคยหลอกลวงเพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาล ก. ให้นำไปเงินไปร่วมลงทุนอันเป็นความเท็จ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ผู้เสียหายทั้ง 11 รายได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก  การกระทำของผู้อุทธรณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  วิญญูชนโดยทั่วไปย่อมไม่สรรเสริญหรือเห็นว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง  หากแต่เป็นการกระทำที่สังคมรังเกียจอย่างยิ่ง  กรณีนี้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ  จึงเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง  การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อันเป็นความผิดตามที่ถูกลงโทษแล้ว  และการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามโดยมติ อ.ก.พ. จังหวัดมหาสารคามได้ลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการก็เป็นไปโดยเหมาะสมกับกรณีการกระทำผิดและเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามมีคำสั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  จึงเป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  คำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น  ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
 
วันที่