Skip to main content
x

 

หลงทางเสียเวลา  หลงค้ายาเสียอนาคต

 

เรื่องดำที่  5820165  เรื่องแดงที่  00378260                             
ผลคำวินิจฉัย   ยกอุทธรณ์ 
การดำเนินการทางวินัย    ต้นสังกัดดำเนินการเอง 
 
ข้อเท็จจริง         
        เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ผู้อุทธรณ์ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ประจำประตู 1 - 2 เรือนจำจังหวัดหนึ่ง ตั้งแต่เวลา 16.30 น. - 08.30 น. โดยในวันดังกล่าว ผู้อุทธรณ์ได้ขับรถยนต์ยี่ห้อเชฟโลเล็ต รุ่นเทรลเบเซอร์ ป้ายแดง มาจอดภายในโรงจอดรถด้านหน้าเรือนจำ และได้ปฏิบัติหน้าที่เวรตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป จากนั้นในเวลาประมาณ 21.00 น. ผู้อุทธรณ์ได้ขี่รถจักรยานยนต์ออกไปนอกเรือนจำ และเมื่อขี่รถจักรยานยนต์กลับมาที่เรือนจำได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรจับกุมเมื่อเวลาประมาณ 21.40 น. โดยในบันทึกการจับกุมดังกล่าวได้ระบุถึงพฤติการณ์การตรวจค้นรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเล็ตของผู้อุทธรณ์ สรุปได้ความว่า ผู้อุทธรณ์เป็นผู้กดรีโมทเพื่อเปิดประตูรถยนต์คันดังกล่าว และยินยอมให้สารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธร เป็นคนตรวจค้นรถยนต์คันดังกล่าวเพียงคนเดียว พบยาไอซ์ โทรศัพท์และอุปกรณ์โทรศัพท์ ใส่ไว้ในถุงพลาสติกและมัดด้วยหนังยางวางซุกซ่อนอยู่กับพื้นรถด้านหลังเบาะหน้าทางซ้าย โดยใช้พลาสติกหุ้มเบาะรถปกปิดของกลางดังกล่าว จึงยึดเป็นของกลาง และตรวจค้นพบอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนของกลางอยู่ในกระเป๋าสำหรับใส่โน๊ตบุ๊ควางอยู่ที่เบาะหลังด้านคนขับ ซึ่งภายในกระเป๋าดังกล่าวพบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง ผู้อุทธรณ์รับว่าอาวุธปืนออโตเมติก ยี่ห้อเบเร็ตต้า ที่ตรวจพบดังกล่าวได้รับจำนำมา ไม่ใช่อาวุธปืนของผู้อุทธรณ์ แต่ให้การปฏิเสธว่ายาไอซ์และโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง และอุปกรณ์เสพยาไอซ์ที่ตรวจพบในรถยนต์ไม่ใช่ของผู้อุทธรณ์ โดยยังไม่ประสงค์ที่จะให้การในชั้นจับกุม แต่จะขอไปให้การในชั้นศาลต่อไป เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้อุทธรณ์ทราบว่ามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาไอซ์) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย และมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืน สำหรับยาไอซ์ที่พบนั้น เป็นชนิดเกล็ดสีขาวขุ่น บรรจุในถุงพลาสติกชนิดมีฝารูดกดปิด จำนวน 6 ถุง น้ำหนักถุงละประมาณ 1 กรัม รวมประมาณ 6 กรัม ส่วนอาวุธปืนที่พบเป็นอาวุธปืนชนิดออโตเมติก ขนาด 9 มม. ยี่ห้อเบเร็ตต้า รุ่น 92 FS สแตนเลส จำนวน 1 กระบอก และอาวุธปืนชนิดรีอวลเวอร์ ขนาด .357 ยี่ห้อสมิตแอนด์เวสสัน ขนาดลำกล้อง 4 นิ้ว จำนวน 1 กระบอก โดยมีเครื่องกระสุนปืนชนิดรีวอลเวอร์ ขนาด .357 จำนวน 6 นัด บรรจุอยู่ในลูกโม่
       ต่อมาอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกรณีที่ผู้อุทธรณ์ถูกจับกุมดังกล่าว รวมทั้งมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ผลการสอบสวนคณะกรรมการสอบสวนเห็นควรลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ส่วนอธิบดีกรมราชทัณฑ์เห็นควรลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์จากราชการ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ พิจารณาแล้วมีมติให้ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ส่วนผลคดีอาญานั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ให้รอการลงโทษผู้อุทธรณ์ไว้มีกำหนด 1 ปีในข้อหามีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 แก้เป็นว่า ผู้อุทธรณ์มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ด้วยโดยให้จำคุกผู้อุทธรณ์ 33 ปี และปรับ 1,800,000 บาท และคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558
 
คำวินิจฉัย
       ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้อุทธรณ์ซึ่งรับราชการตำแหน่งนักทัณฑวิทยาชำนาญงาน สังกัดเรือนจำจังหวัด กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาไอซ์) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย อีกทั้งยังมีอาวุธและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืน จนถูกจับกุมดำเนินคดี นั้น พฤติการณ์เป็นการทำให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นการไม่ปฏิบัติตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ และไม่สนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และโดยที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 บัญญัติกรณีข้าราชการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด การที่ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ มีมติให้ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดระดับโทษตามความร้ายแรงแห่งกรณีตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งเหมาะสมกับความผิดและเป็นธรรมแล้ว การใช้ดุลพินิจกำหนดระดับโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการจึงชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์สั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
 
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.