Skip to main content
x

 

กำหนดคุณสมบัติในการคัดเลือกอัครราชทูตที่ปรึกษาโดยมิชอบ

 

เรื่องดำที่  6020068  เรื่องแดงที่  0038260 
ผลคำวินิจฉัย ยกเลิกประกาศ
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง 
          1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
          2. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 
 
ข้อเท็จจริง
          ผู้ร้องทุกข์รับราชการตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ. ร้องทุกข์กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่เลขาธิการ ก.พ. ได้มีประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง การคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ข้อ 3 ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก 3.3 มีระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งได้ครบตามวาระไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน และมีระยะเวลากลับมาปฏิบัติราชการในประเทศไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งแต่เดิมนั้นสำนักงาน ก.พ. ไม่เคยมีการกำหนดไว้ในการรับสมัคร
          ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เลขาธิการ ก.พ. ได้มีประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง การคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งตามประกาศ ข้อ 3 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกไว้ว่า 3.3) มีระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งได้ครบตามวาระไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน และมีระยะเวลากลับมาปฏิบัติราชการในประเทศไม่น้อยกว่า 3 ปี ผู้ร้องทุกข์ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือก หลังจากนั้นเลขาธิการ ก.พ. ได้มีประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง รายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก วัน เวลา และสถานที่คัดเลือก ในการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ ลงวันที่ 19 มกราคม 2560 ซึ่งตามประกาศดังกล่าวปรากฏว่าตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง มีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกจำนวน 9 คน โดยผู้ร้องทุกข์ไม่มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ซึ่งในเอกสารแนบท้ายประกาศได้หมายเหตุไว้ว่า ผู้ร้องทุกข์เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก
 
คำวินิจฉัย
          ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาเหตุผลที่เลขาธิการ ก.พ. ได้ให้ไว้ในการปรับปรุงแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก จาก “มีระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งได้ครบตามวาระ 3 ปี และมีระยะเวลากลับมาปฏิบัติราชการในประเทศไม่น้อยกว่า 3 ปี” แก้ไขเป็น “มีระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งให้ครบตามวาระไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน และมีระยะเวลากลับมาปฏิบัติราชการในประเทศไม่น้อยกว่า 3 ปี” ที่ให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอในการปฏิบัติภารกิจหลักในการดูแลจัดการศึกษาและภารกิจพิเศษให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี รวมทั้งเพื่อให้ครบวาระพร้อมกับสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศอีก 4 แห่ง แล้วเห็นว่า เลขาธิการ ก.พ. ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก โดยใช้ถ้อยคำว่าผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกจะต้องมีระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งให้ครบตามวาระไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน นั้น เป็นการใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะกำกวมไม่ชัดเจน เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจในการกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ทำให้การกำหนดระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งเป็นเวลาที่ไม่แน่นอน ซึ่งการกำหนดถ้อยคำในลักษณะเช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้แต่ประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง การคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ผู้อำนวยการ ระดับต้น) และตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ในสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งได้ประกาศในวันเดียวกับประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง การคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ก็ใช้ถ้อยคำว่า “ครบตามวาระ 3 ปี” ไม่มีคำว่า “ไม่เกิน” หากต้องการให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี 6 เดือน ก็น่าจะใช้ถ้อยคำให้ชัดเจนไปเลยว่า “ครบตามวาระ 3 ปี 6 เดือน” การกำหนดโดยใช้ถ้อยคำดังกล่าว จึงมีเหตุให้สงสัยในเจตนารมณ์ที่แท้จริงว่าประสงค์ให้เกิดผลเป็นประการใด
         อย่างไรก็ตาม หากแปลความหมายของการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งได้แปลความไว้ว่า ผู้ที่จะมีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกต้องมีระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งครบตามวาระ ซึ่งเป็นเวลาเท่ากับ 3 ปี 6 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ผู้อำนวยการ ระดับต้น) และตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ตามประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง การคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ผู้อำนวยการ ระดับต้น) และตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ในสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งมีตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง จำนวน 4 ตำแหน่ง ในส่วนของระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งไว้ว่า จะต้องมีระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งได้ครบตามวาระ 3 ปี แต่เมื่อพิจารณาหน้าที่ความรับผิดชอบของทั้งสี่ตำแหน่งตามประกาศดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าตำแหน่งดังกล่าวมีหน้าที่ความรับผิดชอบไม่แตกต่างไปจากตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เลยแม้แต่น้อย ดังนั้น ระยะเวลา 3 ปี สำหรับการรับราชการในตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง น่าจะเพียงพอในการปฏิบัติภารกิจหลักในการดูแลจัดการศึกษาและภารกิจพิเศษให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี เช่นเดียวกับสี่ตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น
         ส่วนที่อ้างว่าเพื่อให้ครบวาระพร้อมกับสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศอีก 4 แห่ง นั้น เห็นว่า ตำแหน่งแต่ละตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้ยึดโยงกันถึงขนาดที่จะต้องกำหนดให้ครบวาระลงพร้อมกัน แม้การครบวาระพร้อมกันจะเป็นการสะดวกต่อการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลในครั้งต่อไปก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการครบวาระพร้อมกันเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น กรณีจึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ที่ว่าเพื่อให้ครบวาระพร้อมกับตำแหน่งอื่นในสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศอีก 4 แห่ง ได้อย่างแน่แท้ตลอดไปได้ อีกทั้งยังเป็นการขัดแย้งกับมติของ อ.ก.พ. สำนักงาน ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ที่มีมติว่าการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ผู้อำนวยการ ระดับต้น) ตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) และตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ ผู้นั้นต้องมีระยะเวลาการรับราชการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งได้ครบตามวาระ 3 ปี และมีระยะเวลาการกลับมาปฏิบัติราชการในประเทศได้ไม่น้อยกว่า 3 ปี ดังนั้น การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ให้มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งต้องครบตามวาระไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดหลักเกณฑ์โดยปราศจากเหตุผลรองรับ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
          ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัย ก.พ.ค. จึงพิจารณาแล้วและมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง การคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (นักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 และประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง รายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกฯ ลงวันที่ 19 มกราคม 2560 และให้เลขาธิการ ก.พ. ดำเนินการเรื่องนี้ใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายต่อไป
 
 
วันที่