Skip to main content
x

 

การจัดส่งใบลาโดยไม่ถูกต้อง

 

เรื่องดำที่ 6010033   เรื่องแดงที่  0096160
ผลคำวินิจฉัย  ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย ต้นสังกัดดำเนินการเอง
 
ข้อเท็จจริง
        ผู้อุทธรณ์  เดิมรับราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญงาน สังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2558 รวม 19 วัน และเมื่อกลับมาปฏิบัติราชการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ก็ไม่มีใบรับรองแพทย์ประกอบการลา และไม่มาปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 เมื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ได้ยื่นใบลากิจส่วนตัวย้อนหลัง รวม 122 วัน พร้อมเอกสารเข้ารับรักษาตัวของมารดาประกอบการลา ซึ่งมารดาผู้อุทธรณ์ผ่าตัดหัวเข่าและรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ มีพี่สาวซึ่งพักอยู่กับมารดาของผู้อุทธรณ์เป็นผู้ดูแล รองปลัดกระทรวงยุติธรรมพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ลากิจส่วนตัวย้อนหลัง จึงส่งใบลาและเอกสารหลักฐานประกอบการลาไปยังเรือนจำต้นสังกัดของผู้อุทธรณ์ หลังจากนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำจึงได้ให้มีการสืบสวนข้อเท็จจริง และต่อมาได้รับรายงานผลการสืบสวนว่าผู้อุทธรณ์ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการ 2 ช่วงเวลา กล่าวคือ ไม่มาปฏิบัติหน้าที่โดยแจ้งว่าป่วยแต่ยังไม่ได้รับอนุญาต รวม 19 วัน และไม่มาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่กลับมาปฏิบัติราชการอีกเลย จึงได้รายงานไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้อุทธรณ์ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่าสิบห้าวัน ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 26 มิถุนายน 2558 รวม 19 วัน และตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 รวม 122 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ควรลงโทษไล่ออกจากราชการ อธิบดีกรมราชทัณฑ์พิจารณาแล้วเห็นควรลงโทษปลดออกจากราชการและนำเรื่องเข้าที่ประชุม อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณา ซึ่ง อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์พิจารณาแล้วมีมติไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งลงโทษดังกล่าว จึงอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. เพื่อขอเข้ากลับมารับราชการดังเดิม
 
คำวินิจฉัย
        ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์ขาดราชการช่วงที่หนึ่งตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2558 รวม 19 วัน และช่วงที่สอง ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 รวม 122 วัน โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็นเนื่องจากผู้อุทธรณ์ไม่ได้ป่วยจริง และมิได้ไปดูแลมารดาที่ป่วยตามที่กล่าวอ้าง อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุผลความจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยใดที่ทำให้ผู้อุทธรณ์ไม่อาจติดต่อแจ้งเหตุความจำเป็นแก่ผู้บังคับบัญชาได้ในระหว่างไม่มาปฏิบัติราชการ ซึ่งเป็นการไม่มาปฏิบัติราชการรวมระยะเวลาประมาณ 5 เดือน เป็นการขาดจิตสำนึกต่อหน้าที่ความรับผิดชอบและมีผลกระทบต่อระบบราชการอย่างมาก แม้ว่าจะเป็นการกระทำผิดครั้งแรกหรือเคยปฏิบัติราชการจนได้รับการเลื่อนเงินเดือนพิเศษถึงสามครั้ง ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออกได้ ดังนั้น การที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยมติ อ.ก.พ.กรมราชทัณฑ์ มีคำสั่งไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการจึงเหมาะสมแก่กรณีความผิดแล้ว คำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
 
วันที่