Skip to main content
x

 

ถูกไล่ออกเพราะมียาเสพติดไว้ในครอบครอง (1)

 

          “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ขอเสนอเรื่องราวของข้าราชการที่ลงโทษไล่ออกจากราชการ ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กรณีกระทำความผิดอาญาฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครอง จึงได้อุทธรณ์คำสั่งมายัง ก.พ.ค.  โดยจะนำเสนอในแง่มุมของการพิจารณาความผิดและการกำหนดโทษที่น่าสนใจหลายประการที่จะขอบอกเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาเรื่องลักษณะทำนองเดียวกันนี้ต่อไป
          เรื่องนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้อุทธรณ์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงานถูกจับกุมพร้อมของกลางยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้าและยาไอซ์)  โดยมียาบ้า 8 เม็ด  และยาไอซ์น้ำหนักรวมถุง 0.35 กรัม บรรจุในถุงพลาสติกใสชนิดกดปิดดึงเปิดภายในรถของผู้อุทธรณ์  ต่อมาศาลพิพากษาว่า ผู้อุทธรณ์มีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท แต่มีเหตุบรรเทาโทษจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท  ไม่ปรากฏว่าผู้อุทธรณ์เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน  ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี  แต่เมื่อภายหลังผู้บังคับบัญชาได้ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์ไปยัง ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม  เนื่องจากเห็นว่าการลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการนั้นรุนแรงเกินไป
          ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงานมีหน้าที่โดยตรงในการให้บริการความรู้ แนะนำ ประชาสัมพันธ์ในงานด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพตนได้อย่างเหมาะสม แต่ผู้อุทธรณ์กลับครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้าและยาไอซ์) ในปริมาณที่มากกว่าจะเป็นเพียงผู้ป่วยที่จะส่งไปบำบัดได้เพียงอย่างเดียว ประกอบกับกระทรวงเจ้าสังกัดได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดว่า เสริมสร้างระบบเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพของประชาชน ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และสารเสพติดให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อผู้อุทธรณ์ได้กระทำผิดในเรื่องนี้เสียเองการกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (4) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
          นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งในการพิจารณาที่ได้นำเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้อุทธรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพของประชาชนเข้ามาใช้ในการพิจารณา  นอกจากนี้ ก.พ.ค. ยังมีเหตุผลประการอื่นอีกที่นำมาใช้ในการพิจารณาเพื่อให้เห็นว่าการพิจารณาของต้นสังกัดนั้นถูกต้องและเหมาะสมแล้ว  ส่วนจะเป็นประการใดนั้น  ติดตามต่อในครั้งถัดไปนะคะ
 
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 26 เมษายน 2559)

 

วันที่