Skip to main content
x

คำถามเกี่ยวกับร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

           การร้องทุกข์และการร้องเรียนเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน โดย “การร้องทุกข์” เป็นเรื่องของข้าราชการพลเรือนสามัญมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตนเอง และเป็นเรื่องที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้ แต่ “การร้องเรียน” เป็นการกล่าวหาหรือกล่าวโทษผู้บังคับบัญชาหรือผู้หนึ่งผู้ใดว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องทุกข์หรือไม่ก็ได้ การร้องเรียนจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของ ก.พ.ค. ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

           อย่างไรก็ตาม การที่ ก.พ.ค. จะรับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของคำร้องด้วยว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นมีความคับข้องใจที่เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตน และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาแล้วแม้ทำหนังสือร้องเรียนมาแต่ในเนื้อหาเป็นกรณีที่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องการร้องทุกข์ ก.พ.ค. ก็จะรับเรื่องนั้นไว้พิจารณา แต่ถ้าบางกรณีที่ผู้ร้องทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวอ้างความคับข้องใจต่าง ๆ มา แต่เมื่อพิจารณาในเนื้อหาแล้ว ปรากฏว่าไม่เข้าตามหลักเกณฑ์การร้องทุกข์ ก.พ.ค. ก็จะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา

          การจะร้องทุกข์ได้นั้นนอกจากจะต้องพิจารณาว่าเหตุเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา ซึ่งก่อให้เกิดความคับข้องใจแล้ว เหตุแห่งการร้องทุกข์ดังกล่าวก็ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

                            (1) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติอื่นใดโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

                            (2) ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ

                            (3) ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางเรื่องอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิ หรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร

                            (4) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามหรือขัดกับระบบคุณธรรมตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

           ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้ตามหมวด 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ด้วย

            ผู้ร้องทุกข์อาจมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนได้ในกรณีมีเหตุจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

                          • เจ็บป่วยจนไม่สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง

                          • อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจร้องทุกข์ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด

                          • มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นสมควร

            การมอบหมายดังกล่าวจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์พร้อมทั้งหลักฐานแสดงเหตุจำเป็นข้างต้น ถ้าไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อยสองคน

            นอกจากนี้ ผู้ร้องทุกข์จะมอบหมายให้ทนายความหรือบุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ โดยมีหนังสือแต่งตั้งทนายความหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดแทนตนในกระบวนพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ขั้นตอนใด ๆ ก็ได้ โดยแนบหนังสือแต่งตั้ง หลักฐานแสดงตนของทนายความหรือบุคคลผู้ได้รับแต่งตั้งพร้อมคำร้องทุกข์ หรือจะยื่นในภายหลังก่อนการดำเนินการในขั้นตอนนั้น ๆ ก็ได้ (ข้อ 11 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551) อีกทั้งผู้ร้องทุกข์ยังมีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้ (มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539)

             ผู้ร้องทุกข์ควรคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

                   (1) ให้ร้องทุกข์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะร้องแทนผู้อื่นไม่ได้

                   (2) จะต้องยื่นคำร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ (ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป หรือ ก.พ.ค.) ภายใน 30 วันนับแต่ทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้น

                   (3) คำร้องทุกข์ต้องใช้ถ้อยคำสุภาพและอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้

                             • ชื่อ ตำแหน่ง สังกัด และที่อยู่สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์

                             • การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์

                             • ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้ร้องทุกข์เห็นว่าเป็นปัญหาของเรื่องร้องทุกข์

                             • คำขอของผู้ร้องทุกข์

                             • ลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ร้องทุกข์แทน

                    (4) คำร้องทุกข์ต้องแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องพร้อมคำร้องทุกข์ กรณีไม่อาจแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานไว้ด้วย

                    (5) ผู้ร้องทุกข์จักต้องทำสำเนาคำร้องทุกข์และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง แนบมาพร้อมคำร้องทุกข์ด้วย 1 ชุด

             ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ได้แก่ ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป หรือ ก.พ.ค. ซึ่งเรื่องร้องทุกข์แต่ละเรื่องใครจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์นั้น ให้พิจารณาจากเหตุแห่งการร้องทุกข์ว่าเกิดจากผู้บังคับบัญชาในระดับใด โดยแยกพิจารณาออกเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้

                   1. กรณีผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

                               เป็นกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาระดับต้น ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี ดังนี้

                                     (1) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ต่ำกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

                                      (2) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนกลางที่ต่ำกว่าอธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่ออธิบดี และให้อธิบดีเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

                                      (3) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ และให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

                    2.กรณี ก.พ.ค. เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

                             เป็นกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจาก

                                      - หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี

                                      - ปลัดกระทรวง

                                      - รัฐมนตรีเจ้าสังกัด

                                      - นายกรัฐมนตรี

          ผู้ร้องทุกข์ต้องทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ ซึ่งการนับวันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้

                (1) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ถือว่าวันที่ผู้มีสิทธิร้องทุกข์ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์

                (2) ในกรณีที่ไม่มีการลงชื่อรับทราบคำสั่งตาม (1) แต่มีการแจ้งคำสั่งให้ทราบพร้อมสำเนาคำสั่ง และทำบันทึกวันเดือนปี เวลา สถานที่ที่เเจ้ง โดยลงลายมือชื่อผู้แจ้ง พร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นพยานหลักฐานแล้ว ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์

                (3) ในกรณีไม่อาจแจ้งคำสั่งตาม (2) และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ ให้ส่งสำเนาคำสั่งไป 2 ฉบับเพื่อให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ และให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งแล้วส่งกลับคืนเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ กรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้น 30 วันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่ามีผู้รับแล้ว แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งคืนมา ก็ให้ถือว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์ได้รับทราบคำสั่งอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์แล้ว

                (4) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีคำสั่งเป็นหนังสือ ให้ถือวันที่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้มีสิทธิร้องทุกข์รับทราบหรือควรรับทราบคำสั่งที่ไม่เป็นหนังสือนั้น เป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์

                 (5) ในกรณีที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีคำสั่งอย่างใด ให้ถือวันที่ผู้ร้องทุกข์ควรได้ทราบถึงการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว เป็นวันทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์

        ในการร้องทุกข์ ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิ ดังต่อไปนี้

                1. ผู้ร้องทุกข์สามารถขอแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์โดยแสดงความประสงค์ไว้ในคำร้องทุกข์หรือจะทำเป็นหนังสือยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ก่อนเริ่มการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์

                2. ผู้ร้องทุกข์อาจถอนคำร้องทุกข์ที่ยื่นไว้แล้วในเวลาใด ๆ ก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์มีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในเรื่องร้องทุกข์นั้น

                3. ผู้ร้องทุกข์อาจคัดค้านผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้

         ผู้ร้องทุกข์หรือคู่กรณีในการร้องทุกข์อาจคัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ได้ ถ้าผู้นั้นมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

                    (1) เป็นผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุให้เกิดความคับข้องใจ หรือเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว

                    (2) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ร้องทุกข์

                    (3) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องทุกข์

                    (4) มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติหรือทางสมรสกับบุคคลตาม (1) (2) (3) อันอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องทุกข์

           การคัดค้านกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

                     วิธียื่นคำคัดค้าน ให้ดำเนินการดังนี้

                         (1) ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อประธานกรรมการ ก.พ.ค. ภายใน 7 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

                         (2) หนังสือคัดค้านให้แสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านว่าจะทำให้การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ไม่ได้รับความจริงและความยุติธรรมอย่างไร

            การคัดค้านผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

                     ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อาจถูกคัดค้านได้ โดยให้นำความในหมวด 3 ข้อ 58 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 มาใช้บังคับกับเหตุแห่งการคัดค้านและการยื่นคำคัดค้าน โดยอนุโลม ดังนี้

                           ก. การคัดค้านผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์

                               ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์คัดค้านผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์เหนือผู้ถูกคัดค้านเป็นผู้พิจารณาคำคัดค้าน และมีคำสั่ง ดังนี้

                                    (1) ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านไม่มีเหตุผลก็ให้มีคำสั่งยกคำคัดค้าน คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

                                    (2) ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ ให้แจ้งให้ผู้ถูกคัดค้านกับผู้ร้องทุกข์ทราบ กรณีนี้ให้ผู้พิจารณาคำคัดค้านเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์แทน

                           ข. การคัดค้านปลัดกระทรวง

                               ในกรณีที่ปลัดกระทรวงเป็นผู้ถูกคัดค้าน ให้ส่งคำคัดค้านไปที่เลขาธิการ ก.พ. ในฐานะเลขานุการ ก.พ.ค. และให้ ก.พ.ค. เป็นผู้พิจารณาคำคัดค้าน และมีคำสั่งดังนี้

                                     (1) ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านไม่มีเหตุผล ให้มีคำสั่งยกคำคัดค้าน คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

                                     (2) ถ้าเห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลรับฟังได้ ให้แจ้งผู้ร้องทุกข์ทราบ และแนะนำผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย

                                           - ผู้แทนผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์หนึ่งคน

                                           - ผู้แทนผู้ร้องทุกข์หนึ่งคน

                                           - ผู้แทนผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์หนึ่งคน

                                           - ข้าราชการสำนักงาน ก.พ. ที่เลขาธิการ ก.พ. แต่งตั้งหนึ่งคน

                                              ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวเป็นกรรมการประชุมและเลือกกันเองคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ

                                              ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัดเป็นเลขานุการ และจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

                                         (3) เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวพิจารณามีมติประการใด ให้เสนอปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยตามที่เห็นสมควร
.

                 ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 122 กำหนดไว้ว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ ได้ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ได้ ดังนั้น ผู้มีสิทธิร้องทุกข์จึงจะต้องมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญอยู่ในขณะมีเหตุแห่งความคับข้องใจในการร้องทุกข์ด้วย สำหรับผู้รับบำเหน็จบำนาญซึ่งเป็นผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ไม่มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงไม่มีสิทธิร้องทุกข์

                 หากผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยร้องทุกข์ของ ก.พ.ค. สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีเขตอำนาจได้ โดยวิธีการยื่นฟ้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลหรือยื่นคำฟ้องส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ทราบหรือควรทราบคำวินิจฉัยร้องทุกข์ของ ก.พ.ค.