Skip to main content
x

คำถามทั่วไป

  • เดิมเมื่อครั้งใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในระบบราชการ คือ ก.พ. แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้เต็มที่เพราะ ก.พ. ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงด้วยตนเอง ยังต้องอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี (ซึ่งเป็นอำนาจบริหารฝ่ายการเมือง) ในการกำหนดนโยบายและสั่งการ จนกระทั่งมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงได้กำหนดมาตรการพิทักษ์ระบบคุณธรรมให้ชัดเจนขึ้น โดยมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการเพิ่มขึ้นอีกคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ดูแลการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในระบบราชการพลเรือน เรียกว่า "คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม" หรือเรียกโดยย่อว่า "ก.พ.ค." ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค. ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกาหนึ่งคน กรรมการ ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคนซึ่งได้รับเลือกโดย ก.พ. และเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ
  • ในส่วนสถานภาพของ ก.พ.ค. นั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 31 ได้บัญญัติให้ ก.พ.ค. เป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะต่อ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น เพื่อให้ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรมให้แก่ข้าราชการพลเรือน ออกกฎ ก.พ.ค. ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ก.พ.ค. กำหนด เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว รวม 2 คณะ คือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) โดยทำหน้าที่ต่างกัน กล่าวคือ ก.พ. จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของรัฐบาล ส่วน ก.พ.ค. จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการพลเรือน โดยมีเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการของ ก.พ. และเป็นเลขานุการของ ก.พ.ค. ดังนั้น เลขาธิการ ก.พ. จึงเป็นผู้ปฏิบัติงานเชื่อมโยงระหว่างการทำงานของคณะกรรมการทั้งสอง นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อมโยงกันในกระบวนการทางกฎหมายในบางเรื่องอีกด้วย เช่น

  1. ก.พ.ค. มีอำนาจเสนอแนะต่อ ก.พ. เพื่อให้ ก.พ. ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 31 (1))
  2. ก.พ.ค. จะมีคำวินิจฉัยเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์ไม่ได้ เว้นแต่กรณีที่ได้รับแจ้งจาก ก.พ. ว่าสมควรเพิ่มโทษ (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 120)
  3. จัดให้สำนักพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยธุรการของ ก.พ.ค. รวมทั้งจัดให้มีนิติกรผู้รับผิดชอบสำนวนหรือพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน รวมทั้งพนักงานผู้รับอุทธรณ์และพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกรรมการเจ้าของสำนวนเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และร้องทุกข์ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับอุทธรณ์/คำร้องทุกข์ ตรวจอุทธรณ์/คำร้องทุกข์ และการดำเนินการทางธุรการอย่างอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

หลักการหรือปรัชญาในการคุ้มครองระบบคุณธรรมของ ก.พ.ค. อยู่บนพื้นฐานที่ว่า การดำเนินการต้องเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการและให้ความคุ้มครองรักษาความเป็นธรรมแก่ข้าราชการ ซึ่งได้แก่

  • หลักประกันความเป็นมืออาชีพ คือ กรรมการ ก.พ.ค. ต้องทำงานเต็มเวลา มีความรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน เสมือนเช่นตุลาการศาลปกครอง
  • หลักความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค. ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลาง และไม่ข้องเกี่ยวกับฝ่ายการเมือง กรรมการ ก.พ.ค. จึงมีความเป็นกลาง และมีอิสระในการใช้ดุลพินิจ ทำให้สามารถวินิจฉัยคดีได้อย่างเป็นธรรม
  • หลักการรับฟังความทั้งสองฝ่าย คือ เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งคัดค้านการนำเสนอหรือกล่าวอ้างของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอเพื่อความเป็นธรรมตามหลัก Both sides must be heard

ระบบคุณธรรมในระบบบริหารงานบุคคล (Merit System) หมายถึง การบริหารงานบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรของหน่วยงานโดยการสร้างสิ่งจูงใจและตอบสนองความต้องการของหน่วยงานเพื่อให้หน่วยงานได้ประโยชน์สูงสุด ประหยัด และบุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐในการเอื้ออำนวยบริการเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยแบ่งออกเป็นหลักใหญ่ๆ 4 หลัก คือ

  1. หลักความสามารถ (Competence) หมายถึง การยึดหลักความรู้ความสามารถของบุคคลเป็นสำคัญ พยายามหาทางคัดเลือกให้ได้ผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง ให้ผู้มีความรู้ความสามารถมาสมัครให้มากที่สุด หาวิธีการที่เหมาะสมมาทำการคัดเลือก การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่งต้องคำนึงถึงหลักความสามารถของบุคคลเป็นสำคัญ
  2. หลักความเสมอภาค (Equality) หมายถึง การเปิดโอกาสให้ผู้มีคุณสมบัติทุกคน (Open to all) ให้โอกาสแก่ผู้มีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน (Equality of opportunity) หน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเดียวกันจะต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน (Equal pay for equal work) ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้ากันด้วยระเบียบของมาตรฐานในการบริหารงานบุคคลอย่างเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลัง ชาติตระกูล เพศ ผิวพรรณ หรือญาติใคร นามสกุลใหญ่โตแค่ไหน ฯลฯ ถ้ามีความสามารถบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน
  3. หลักความมั่นคงในการดำรงสถานภาพ (Security) หมายถึง หน่วยงานพยายามทำให้ทุกคนที่เข้ามาอยู่กับหน่วยงานมีความมั่นคงในชีวิตทั้งในเรื่องอาชีพการงาน เงินเดือน สวัสดิการ และประโยชน์เกื้อกูลอื่น ๆ ประกันมิให้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกออกจากราชการ โดยไม่มีความผิด เช่น การจ่ายค่าตอบแทนตามค่าของความสามารถหรือผลของงาน เพื่อให้ทุกคนในหน่วยงานรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสใช้ความรู้แสดงความสามารถให้เติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทุกคนก็จะทุ่มเททำงานให้กับหน่วยงาน เป็นต้น
  4. หลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political neutrality) หมายถึง ผู้บริหารหน่วยงานทำหน้าที่ในการดูแลและผดุงระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคล ปลอดจากอิทธิพลทาง การเมือง (ทั้งภายในและภายนอก) อิทธิพลอำนาจมืดหรือผู้ที่สามารถให้คุณให้โทษได้ และข้าราชการประจำจะต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มความสามารถ ต้องไม่กระทำตนให้ตกอยู่ภายใต้อาณัติหรืออิทธิพลของพรรคการเมือง

ผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองดูแลจาก ก.พ.ค. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งหมายความถึง ข้าราชการพลเรือนซึ่งรับราชการโดยได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 4 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

ดังนั้น ข้าราชการประเภทอื่น เช่น ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ข้าราชการศาลยุติธรรม ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงไม่อาจที่จะยื่นอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. เพื่อให้ ก.พ.ค. พิจารณาได้ เนื่องจากไม่อยู่ในความคุ้มครองดูแลของ ก.พ.ค.

  • ข้าราชการครู ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ)
  • ข้าราชการตำรวจ ใช้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
  • ข้าราชการทหาร ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการทหาร (ก.ข.ท.)
  • ข้าราชการศาลยุติธรรม ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.)
  • ข้าราชการฝ่ายอัยการ ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการอัยการ (กอ.)
  • ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.)
  • ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล/พนักงานส่วนตำบล/พนักงานเมืองพัทยา ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นของข้าราชการผู้นั้น

อุทธรณ์ มีจุดประสงค์ในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาสั่งลงโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการตามที่กฎหมายกำหนด จึงเปิดโอกาสให้ผู้ถูกสั่งลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการได้ร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าว โดยมีองค์กรซึ่งเป็นกลาง (ก.พ.ค.) เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย

ร้องทุกข์ มีจุดประสงค์ในการทบทวนการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้ รวมทั้งทบทวนการสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยยึดหลักความยุติธรรมและความเป็นธรรมเป็นสำคัญ โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้

  1. สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาโดยเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถขอให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนแก้ไขหรือชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติของตนที่เป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเกิดความคับข้องใจ อันจะทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งในองค์กรได้
  2. ให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบความรู้สึกว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของตน และมีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเกี่ยวกับการปฏิบัติของตนได้อย่างเหมาะสม
  3. ให้ข้าราชการมีทางระบายความคับข้องใจและไม่ไปแสดงออกในทางที่ไม่ถูกไม่ควร
  4. ให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาให้เป็นไปโดยถูกต้อง เป็นธรรม และเหมาะสม
  5. เพื่อส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานผู้ใต้บังคับบัญชา อันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติราชการในระยะยาว

ดังนั้น การร้องทุกข์ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องการบริหารงานทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการลงโทษหรือสั่งให้ออกจากราชการ กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป (ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี หรือปลัดกระทรวง) เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย เว้นแต่ถ้าเป็นทุกข์ที่เกิดจากผู้บังคับบัญชาระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า หรือสูงกว่า จึงให้ร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค.

  1. สามารถปรึกษาทางโทรศัพท์ได้ที่เบอร์ 02-547-1844 หรือเบอร์ 02-547-1000 ต่อ 6980, 6981
  2. สามารถมาปรึกษาด้วยตัวเองได้ที่ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม อาคาร 1 สำนักงาน ก.พ. เลขที่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี (คลิกเพื่อดูแผนที่)

The website encountered an unexpected error. Please try again later.