Skip to main content
x

 

เรื่องเหล้ากับข้าราชการ

 

                     เนื่องด้วยช่วงนี้อยู่ในระหว่างการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” จึงขอเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการดื่มสุราของข้าราชการในแง่มุมที่ส่งผลกระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการทำให้เกิดผลเสียหายในหน้าที่ราชการที่ตนรับผิดชอบ หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงอันจะต้องถึงกับปลดหรือไล่ผู้นั้นออกจากราชการ หากข้าราชการผู้ใดมีพฤติการณ์เช่นที่กล่าวมานี้  ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจจะมีมาตรการในการรับมือกับข้าราชการเหล่านี้ อย่างไร
                    เรื่องราวในลักษณะข้างต้นที่เคยปรากฏมามีทั้งนายช่างไฟฟ้าชำนาญการ สังกัดกรมแห่งหนึ่ง ชื่นชอบการดื่มสุราเป็นชีวิตจิตใจ แม้ต่อมาความชอบของเขาจะส่งผลต่อสุขภาพและการปฏิบัติราชการ  ข้าราชการรายนี้ก็ยังไม่สามารถเลิกดื่มสุราได้ กล่าวคือ นายช่างผู้นี้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการเงิน การบัญชี พัสดุ และธุรการ รวมทั้งรับผิดชอบ  งานตรวจสอบวิทยุอีกด้วย แต่ข้าราชการรายนี้กลับจัดทำบัญชีไม่ถูกต้อง ทำเพียงบางประเภทและบางรายการ ปฏิบัติงานล่าช้า ไม่เป็นปัจจุบัน  อีกทั้งไม่สามารถทดสอบเบื้องต้นกับการใช้เครื่องตรวจสอบวิทยุอย่างง่ายๆ ได้ ไม่เข้าใจวิธีการใช้ที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์ที่ดื่มสุราเป็นอาจิณ เมื่อเข้าใกล้จะได้กลิ่นสุรา มือสั่น  แม้เจ้าตัวจะเคยทำหนังสือให้ผู้ตรวจสอบภายในของกรม โดยสัญญาว่าจะเลิกดื่มสุราภายใน 1 ปี แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ อีกทั้งผู้นี้ยังเคยถูกลงโทษภาคทัณฑ์กรณีดื่มสุราจนครองสติไม่ได้อีกด้วย
                    ส่วนอีกเรื่องเป็นเรื่องของเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนชำนาญการ ได้บุกรุกเข้าไปในบ้านพักของทันตแพทย์หญิง  ซึ่งต่อมาถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกและศาลพิพากษาว่ากระทำผิดจริง ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท แต่รับสารภาพจึงให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี  ประกอบกับผู้นี้ได้ถูกลงโทษทางวินัยอยู่เนืองๆ ซึ่งส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากดื่มสุราเป็นอาจิณ  มีอาการมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ ซึ่งการเสพติดสุราและบุหรี่นั้น เจ้าหน้าที่ผู้นี้เคยเข้ารับการบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยใน ณ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด แต่กลับไม่สมัครเข้ารับการบำบัดรักษา ศูนย์ฯ จึงจำหน่ายออกจากบัญชีผู้ป่วย
                     ข้าราชการทั้งสองรายที่ยกตัวอย่างข้างต้นนี้ แม้มีพฤติการณ์ที่ยังไม่ถึงกับเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ผู้บังคับบัญชาก็ได้ใช้มาตรการตามมาตรา 110 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดำเนินการเพื่อสั่งให้ทั้งคู่ออกจากราชการ กรณีเป็นผู้หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ โดยการสั่งให้ออกจากราชการในกรณีนี้ไม่ได้พิจารณาจากแค่พฤติการณ์ดื่มสุราเป็นอาจิณจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การปฏิบัติราชการ หรือความประพฤติเหมือนอย่างสองกรณีข้างต้นเท่านั้น  เพราะพฤติการณ์อื่นๆ เช่น ขาดราชการเป็นอาจิณ หรือลากิจ ลาป่วย เป็นประจำ  หรือบกพร่องในหน้าที่ราชการในกรณีต่างๆ ผู้บังคับบัญชาก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายเพื่อสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามมาตรา 110 (6) นี้ได้
                     อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการในกรณีดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้บังคับบัญชาดำเนินการไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นได้ นะ..ขอบอก... 
 
ผู้เขียน : จารุวรรณ คุณธรณ์
(ตีพิมพ์ในจุลสาร "ก.พ.ค. News" ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม - กันยายน 2561)
 
ประเภทเนื้อหา
วันที่