Skip to main content
x

               

วันยื่นหนังสืออุทธรณ์

 

                 “ก.พ.ค. ขอบอก” ครั้งนี้ ขอบอกกล่าวเรื่อง “วันยื่นหนังสืออุทธรณ์” ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการยื่นได้หลายกรณี และบางกรณี เช่น การส่งหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์ก็อาจมีประเด็นข้อสงสัยว่าจะถือว่าวันใดเป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์ ก.พ.ค. ขอบอก จึงขอสรุปหลักการยื่นหนังสืออุทธรณ์ ดังนี้
                  1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 114 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง  ทั้งนี้ ให้นับวันเริ่มต้นในวันถัดจากวันรับทราบคำสั่ง เช่น นาย ก รับทราบคำสั่งลงโทษตนเองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 สิทธิอุทธรณ์จะเริ่มนับในวันถัดไป คือวันที่ 2 ตุลาคม 2561 และนาย ก จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2561
                  2. มาตรา 114 วรรคสอง กำหนดว่า การอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. ซึ่งข้อ 30 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดวิธีการยื่นอุทธรณ์ไว้ 2 ทาง คือ
                  - ยื่นอุทธรณ์ต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ที่สำนักงาน ก.พ. ด้วยตนเอง หรือ
                  - ส่งหนังสืออุทธรณ์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
                 และเพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาอุทธรณ์กรณียื่นอุทธรณ์ต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ กฎหมายจึงกำหนดให้ถือวันที่ที่ปรากฏในหลักฐานการลงทะเบียนรับหนังสือของสำนักงาน ก.พ. เป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์ ส่วนกรณีส่งหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน นั้น ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสืออุทธรณ์เป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์
                   อย่างไรก็ตามเพื่อความสะดวกรวดเร็ว  ในปัจจุบันเรามักจะเห็นที่ทำการไปรษณีย์เอกชนตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ในห้างสรรพสินค้า หรือตึกชั้นนำทั่วไป เป็นผู้ให้บริการรับฝากไปรษณียภัณฑ์  จึงมีข้อสงสัยว่าในการส่งหนังสืออุทธรณ์ที่ที่ทำการไปรษณีย์เอกชนจะถือว่าวันใดเป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์ จะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันกับกรณีส่งหนังสืออุทธรณ์ที่ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วไปหรือไม่ โดยเฉพาะหากการยื่นหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์นั้น ผู้อุทธรณ์ยื่นทางไปรษณีย์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์เอกชนในวันสุดท้ายของระยะเวลาอุทธรณ์ จะสามารถนับวันที่ได้ประทับตราประจำวันของที่ทำการรับฝากไปรษณีย์ภัณฑ์ นั้น ได้หรือไม่ ??
                   เรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้ว่า การดำเนินการของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้จัดตั้งไว้หลายประเภท เช่น ศูนย์ไปรษณีย์ ศูนย์รับฝากไปรษณีย์ ที่ทำการไปรษณีย์รับจ่าย ที่ทำการไปรษณีย์รับฝาก ที่ทำการไปรษณีย์สาขา และที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต ซึ่งที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตนี้อาจบริหารงานโดยหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชน หากเป็นที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตประเภทรับจ่ายจะมีรหัสไปรษณีย์ของตนเอง แต่ถ้าเป็นที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตประเภทรับฝากจะไม่มีรหัสไปรษณีย์ของตนเอง แต่จะใช้รหัสของที่ทำการไปรษณีย์รับจ่ายที่รับผิดชอบ ซึ่งหากสถานที่รับฝากนั้น เป็นการดำเนินการของเอกชนที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือไม่ใช่ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต สถานที่นั้นก็จะเป็นเพียงผู้รับและรวบรวมไปรษณีย์ภัณฑ์เพื่อนำส่งที่ทำการไปรษณีย์ประทับตรารับตามกฎหมายและระเบียบของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ต่อไปเท่านั้น การส่งไปรษณีย์เอกชนดังกล่าวจึงยังไม่ถือว่าเป็นการส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์
                     ด้วยเหตุนี้ ผู้อุทธรณ์จึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบว่าวันที่ได้ประทับตราประจำวันของที่ทำการรับฝากนั้น เป็นวันที่มีตราประทับของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือที่ทำการไปรษณีย์เอกชนที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เพราะหากส่งไปรษณีย์ ณ ที่ทำการเอกชนที่ไม่ได้รับอนุญาตในวันสุดท้ายของกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ อาจทำให้ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นระยะเวลา ซึ่งผู้อุทธรณ์จะเสียสิทธิในการได้รับพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายได้ นะ..ขอบอก...

ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ

ประเภทเนื้อหา
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.