Skip to main content
x

 

เภสัชกรสั่งซื้อยาในนามของโรงพยาบาลเพื่อนำไปจำหน่ายที่ร้านยาของตนเอง

 

เรื่องดำที่  5810162  เรื่องแดงที่  0007161
ผลคำวินิจฉัย  ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย  ป.ป.ท. ชี้มูล

 

ข้อเท็จจริง
        ผู้อุทธรณ์ขณะดำรงตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งหนึ่ง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ รับผิดชอบเวชภัณฑ์ยา ซึ่งเดิมการขออนุมัติจัดซื้อยาทุกครั้งเจ้าหน้าที่พัสดุจะต้องเสนอผ่านผู้อุทธรณ์เพื่อตรวจสอบและพิจารณาก่อนเสนอผู้อำนวยการโรงพยาบาล จ. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติจัดซื้อ และต่อมาได้มีคำสั่งฉบับใหม่ ที่ 52/2552 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2552  แต่งตั้งผู้อุทธรณ์ให้เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ รับผิดชอบเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาและวัสดุการแพทย์  โรงพยาบาล จ. ได้มีการสั่งซื้อยาสูตรซูโดอีเฟดรีนผสมไตรโปรลิดรีน ครั้งละ 10,000 – 12,000 เม็ด ขึ้นอยู่กับอัตราการใช้ยาโรงพยาบาล แต่ได้ระงับใช้ยาสูตรดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 ถึงปัจจุบัน โดยใช้ยาที่มีส่วนผสมของคลอเฟนิรามีน 4 มิลลิกรัม แทน
        ต่อมาปรากฏชื่อผู้อุทธรณ์ในเอกสารใบสั่งซื้อยาของโรงพยาบาล สั่งยาที่มีส่วนประกอบซูโดอีเฟดรีน จำนวน 5 ครั้ง โดยสั่งซื้อยาจากบริษัทแห่งหนึ่ง จำนวน 2 ครั้ง รวม 60,000 เม็ด และสั่งซื้อยาจากห้างหุ้นส่วนอีกแห่งหนึ่ง จำนวน 3 ครั้ง รวม 30,000 เม็ด รวมทั้งหมดเป็นจำนวน 90,000 เม็ด  ซึ่งการสั่งซื้อยาที่มีส่วนประกอบซูโดอีเฟดรีนดังกล่าว ผู้อุทธรณ์ไม่สามารถซื้อได้ในนามของตน  เนื่องจากมีประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนดควบคุมการจำหน่าย 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 154/2554 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 จำกัดปริมาณการจำหน่ายส่วนประกอบซูโดอีเฟดรีนให้กับร้านขายยา คลินิกเวชกรรม และสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนโดยจำหน่ายได้ไม่เกิน 5,000 เม็ด ต่อแห่งต่อเดือน  ต่อมามีประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2554 กำหนดให้ส่วนประกอบซูโดอีเฟดรีนเป็นยาควบคุมพิเศษ โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ผลิตและนำเข้าฯ จำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลของเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน โดยสำหรับสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนควบคุมการจำหน่ายได้ไม่เกิน 5,000 เม็ด ต่อแห่งต่อเดือน  ทั้งนี้ การสั่งซื้อยาของของผู้อุทธรณ์กระทำเป็นการทำส่วนตัวโดยเพียงแต่อ้างชื่อโรงพยาบาล จ.  มิได้เป็นการจัดซื้อยาตามระเบียบราชการของโรงพยาบาล จ. แต่อย่างใด
คำวินิจฉัย
        ก.พ.ค. โดยมติเสียงข้างมาก (6 เสียงต่อ 1 เสียง) พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ผู้อุทธรณ์มีหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ รับผิดชอบงานเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาและวัสดุการแพทย์ ได้อาศัยโอกาสที่ตนดำรงตำแหน่งเภสัชกร แอบอ้างชื่อโรงพยาบาล จ. ทำการสั่งซื้อยาสูตรซูโดอีเฟดรีน ผสมไตรโปรลิดรีนในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2554 รวม 5 ครั้ง จำนวน 90,000 เม็ด โดยใช้แบบฟอร์มใบสั่งซื้อยาของโรงพยาบาล จ. เพื่อให้ผู้อื่นสำคัญผิดว่าโรงพยาบาลเป็นผู้สั่งซื้อยา  และผู้อุทธรณ์ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งซื้อในฐานะเป็นเภสัชกร หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และชำระเงินค่ายาด้วยเงินของตนเอง โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการสั่งซื้อยาเพื่อใช้ในโรงพยาบาล จ. ยาประเภทดังกล่าวได้มีประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควบคุมการจำหน่าย แต่โดยที่ผู้อุทธรณ์มิได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่รับผิดชอบการสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาล  ได้กระทำการอันเป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่เภสัชกรของโรงพยาบาล จ. สั่งซื้อยาสูตรผสมที่มีการควบคุมการจำหน่ายไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อนำไปจำหน่ายที่ร้านขายยาของตน  โดยการแอบอ้างชื่อโรงพยาบาลเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้อุทธรณ์มิได้มีเจตนาเพื่อเตรียมไว้ขายให้กับประชาชนของอำเภอดอยหล่อที่มีประชากรประมาณ 27,000 คน เพียงอย่างเดียว  กรณีนี้แม้ว่าโรงพยาบาลอาจไม่ได้รับความเสียหายในแง่ของตัวเงินเนื่องจากผู้อุทธรณ์ได้ชำระเงินค่ายาแล้ว แต่ภาพลักษณ์และความเชื่อถือของประชาชนต่อข้าราชการและโรงพยาบาล จ. ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐได้รับความเสียหายแล้ว  พฤติการณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง  ฐานไม่รักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย  ฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น  ฐานกระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์อันอาจทำให้เสียความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (10) มาตรา 83 (3) (5) และมาตรา 85 (4) (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  การที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมติ อ.ก.พ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งเพิ่มโทษตามที่ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดผู้อุทธรณ์จากลดเงินเดือนจำนวน 2 % เป็นไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ สมควรแก่กรณีแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
 
วันที่