Skip to main content
x

 

คำถาม

กรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญถูกผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 (ข) (4) สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ได้หรือไม่

นอกจากนี้ กรณีที่ ก.พ.ค. เคยวางแนวไว้ว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีสิทธิร้องทุกข์  เหตุแห่งการร้องทุกข์ต้องเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ร้องทุกข์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งชอบที่จะร้องทุกข์ได้ภายใน 30 วัน แม้จะพ้นจากการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญไปแล้ว แต่ยังอยู่ในกำหนด 30 วัน ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ได้ จะเอาเหตุที่ผู้ร้องทุกข์ไม่มีสภาพในขณะยื่นคำร้องทุกข์มาเป็นเหตุไม่รับเรื่องไม่ได้ ซึ่งภายหลังที่ข้าราชการดังกล่าวได้รับทราบคำสั่งให้ออกจากราชการดังกล่าวแล้ว หากยังอยู่ในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง จะร้องทุกข์ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้หรือไม่ อย่างไร

 

คำตอบ

          พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 114 ได้บัญญัติให้การใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ต้องเป็นกรณีที่ถูกสั่งลงโทษทางวินัย (ถูกสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก ลดเงินเดือน ตัดเงินเดือน หรือภาคทัณฑ์) หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) เท่านั้น  กรณีถูกสั่งให้ออกจากราชการโดยพลันตามมาตรา 67 จึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.พ.ค. ได้
          ส่วนกรณีที่จะใช้สิทธิร้องทุกข์  มาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้ผู้ที่มีสิทธิต้องเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีความคับข้องใจจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ
ต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้  ดังนั้น ผู้ที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการโดยพลันตามมาตรา 67 จึงไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  อย่างไรก็ดี ผู้ที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการนี้สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
มาตรา 44 และมาตรา 45 วรรคสอง  โดยกฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์คำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองได้ 
          ส่วนกรณีที่ท่านสอบถามว่า  ก.พ.ค. เคยวางแนวไว้ว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีสิทธิร้องทุกข์นั้น  เหตุแห่งการร้องทุกข์ต้องเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ร้องทุกข์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งชอบที่จะร้องทุกข์ได้ภายใน 30 วัน แม้จะพ้นจากการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญไปแล้ว แต่ยังอยู่ในกำหนด 30 วัน ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ได้ จะเอาเหตุที่ผู้ร้องทุกข์ไม่มีสภาพในขณะยื่นคำร้องทุกข์มาเป็นเหตุไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไม่ได้ นั้น  กรณีดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงที่ข้าราชการใกล้เกษียณรายหนึ่งได้ทราบข่าวว่าตนจะถูกย้าย จึงยื่นหนังสือลาออกต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้อนุญาตให้ลาออกโดยให้มีผลในอีก 30 วันข้างหน้า แต่ปรากฏว่าก่อนการลาออกจะมีผล  ผู้บังคับบัญชากลับสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นย้ายในทันที  ข้าราชการผู้นั้นจึงได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ในเรื่องที่ถูกย้าย  แต่เป็นการยื่นหลังจากที่การลาออกมีผลแล้ว  กรณีนี้ ก.พ.ค. พิจารณาเห็นว่า ขณะเกิดความคับข้องใจ (ขณะมีคำสั่งย้าย) ข้าราชการผู้นั้นยังคงมีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญอยู่ ทำให้ข้าราชการผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบเหตุแห่งทุกข์  แม้ภายหลังจะพ้นจากการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญไปแล้ว แต่หากระยะเวลายังอยู่ในภายในกำหนดเวลา 30 วัน ข้าราชการผู้นั้นยังคงมีสิทธิร้องทุกข์ได้  เรื่องนี้จึงแตกต่างจากกรณีถูกสั่งให้ออกจากราชการโดยพลันตามมาตรา 67 ที่ขณะเกิดความคับข้องใจนั้น ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไม่มีสถานภาพความเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญแล้ว  จึงไม่มีสิทธิร้องทุกข์ในเรื่องดังกล่าวได้
 
ประเภทเนื้อหา
วันที่