Skip to main content
x

 

ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้กับบุคคลไม่ทราบชื่อและสัญชาติ

 

เรื่องดำที่ 5910084  เรื่องแดงที่ 0097160
ผลคำวินิจฉัย  ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย  ต้นสังกัดดำเนินการเอง
 
ข้อเท็จจริง
          ผู้อุทธรณ์ เดิมรับราชการตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจำตัวประชาชนของสำนักทะเบียนอำเภอในจังหวัดแห่งหนึ่ง ในวันเกิดเหตุผู้อุทธรณ์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอนุมัติให้ทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้มาขอทำบัตรฯ ในนามชื่อนาย ต. ซึ่งมีสูติบัตรออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอดังกล่าวเป็นพยานเอกสาร
          ภายหลังผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ในเรื่องที่ได้ลงนามอนุมัติจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนในแบบคำขอมีบัตร (บ.ป.1) โดยไม่มีการสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือตามระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2538 เป็นเหตุให้บุคคลไม่ทราบชื่อและสัญชาติสวมตัวใช้ชื่อและรายการของนาย ต. ทำบัตรประจำตัวประชาชนแสดงตนเป็นคนไทยโดยทุจริต  และต่อมาได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ตามมติ อ.ก.พ. จังหวัด  ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อ ก.พ.ค.
 
คำวินิจฉัย
          ก.พ.ค. พิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้อุทธรณ์มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจำตัวประชาชนของสำนักทะเบียนอำเภอในจังหวัดแห่งหนึ่ง  ในวันเกิดเหตุผู้อุทธรณ์ได้มาปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ โดยปรากฏลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์ในแบบคำขอมีบัตร (บ.ป.1) รายนาย ต. ในฐานะผู้รับคำขอและในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอนุมัติให้ทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้สวมตัวทำบัตรฯ ที่มีเพียงสำเนาสูติบัตรระบุชื่อนาย ต. เป็นพยานเอกสารเท่านั้น  แต่ไม่ปรากฏว่ามีการสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือตามระเบียบที่กรมการปกครองกำหนดไว้  แม้ผู้อุทธรณ์จะอ้างว่าลายมือชื่อดังกล่าวไมใช่ของตน และทางจังหวัดไม่ได้ส่งตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อไปที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอีก เนื่องจากเคยได้รับแจ้งจากกองพิสูจน์หลักฐานว่าลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์ที่เขียนไม่เป็นตัวอักษร ลายเส้นน้อย ลักษณะพิเศษของการเขียนไม่เด่นชัดเพียงพอ จึงไม่อาจตรวจพิสูจน์ลงความเห็นให้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดได้นั้น ก็มิได้หมายความว่าลายมือชื่อที่ปรากฏดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม  การที่จังหวัดพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้อุทธรณ์  การมาปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติในวันเกิดเหตุ  การเปรียบเทียบลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์ในแบบคำขอมีบัตร (บ.ป.1) รายนาย ต. กับเอกสารอื่นที่มีลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์ แล้วเห็นว่ามีความเหมือนกันจนเชื่อได้ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์จริง  ประกอบกับผู้อุทธรณ์มีพฤติการณ์กระทำผิดในกรณีอื่นทำนองเดียวกันนี้ซึ่งเคยถูกลงโทษไล่ออกจากราชการไปแล้วถึงสองครั้ง  ข้ออ้างของผู้อุทธรณ์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้  ดังนั้น การที่ผู้อุทธรณ์อนุมัติให้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้สวมตัวทำบัตรฯ จึงเป็นการปฏิบัติที่มิชอบตามระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2538 และเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต เป็นเหตุให้ผู้สวมตัวทำบัตรประจำตัวประชาชนได้รับบัตรประจำตัวประชาชนของทางราชการในนามของนาย ต. ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบข้อมูลการทะเบียนราษฎร  และข้อมูลทะเบียนบัตรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติในการควบคุมคนต่างด้าว  พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ตามมาตรา 82 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และระดับโทษที่ลงเหมาะสมกับความผิดแล้ว  ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น  วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

 

วันที่