Skip to main content
x

 

ละเลยไม่ได้ตรวจสอบข้อกำหนดห้ามโอนหลังโฉนดที่ดินจนทำให้การจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นโมฆะ

 

เรื่องดำที่ 5910172 เรื่องแดงที่ 0086160
ผลคำวินิจฉัย ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย ต้นสังกัดดำเนินการเอง

 

ข้อเท็จจริง
                   เรื่องนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กรมที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 99999 ในจังหวัดแห่งหนึ่งให้แก่นาย อ. โดยจดแจ้งข้อความด้วยหมึกสีแดงในสารบัญจดทะเบียนด้านหลังของโฉนดที่ดินว่า “ห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2549” และ “โฉนดที่ดินแปลงนี้ออกตามนโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาล” ต่อมานาย อ. ได้มายื่นคำขอจดทะเบียนให้ที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นาง ย. ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันที่สำนักงานที่ดินจังหวัดดังกล่าว โดยมีนาง ส. เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำการสอบสวนสิทธิและนิติกรรม และเมื่อนาง ส. ได้ทำการสอบสวนสิทธิและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแล้ว ได้ส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่แก้ทะเบียนโฉนดที่ดิน และเสนอเรื่องราวการจดทะเบียนดังกล่าวต่อผู้อุทธรณ์เพื่อทำการลงนามจดทะเบียน ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 นาง ย. ได้นำโฉนดที่ดินฉบับนี้มายื่นขอจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่ารายการจดทะเบียนประเภทให้ระหว่างนาย อ. กับนาง ย. เป็นการจดทะเบียนในระหว่างมีข้อกำหนดห้ามโอนสิบปีตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นการจดทะเบียนไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียน เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งให้นาง ย. ทราบ ซึ่งนาง ย. ได้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียน
                   เรื่องนี้จังหวัดได้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงและได้รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อกรมที่ดินเพื่อให้พิจารณาดำเนินการ กรมที่ดินจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อทำการสอบสวนเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียน คณะกรรมการสอบสวนฯ ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วผลปรากฏว่า รายการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นการจดทะเบียนในระหว่างข้อกำหนดห้ามโอน จึงเป็นการจดทะเบียนไปโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องเพิกถอนรายการจดทะเบียน กรมที่ดินจึงได้มีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนครั้งดังกล่าว พร้อมกับได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วเห็นว่า การกระทำของนาง ส. และผู้อุทธรณ์มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แต่เนื่องจากนาง ส. พ้นจากสภาพการเป็นข้าราชการพลเรือนไปก่อนมีมูลอันควรกล่าวหาว่าได้กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง จึงไม่อาจดำเนินการทางวินัยได้ กรมที่ดินจึงได้ยุติเรื่องของนาง ส. ส่วนกรณีของผู้อุทธรณ์ ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ทราบ และผู้อุทธรณ์ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาแล้ว อธิบดีกรมที่ดินเห็นว่า พฤติการณ์เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 คู่กรณีในอุทธรณ์จึงได้มีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ในอัตราร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน
 
คำวินิจฉัย
                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้จดทะเบียนมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมตลอดถึงสิทธิและความสามารถของบุคคลผู้ขอจดทะเบียน และความสมบูรณ์ถูกต้องของนิติกรรมก่อนที่จะลงลายมือชื่อจดทะเบียนให้แก่ผู้ยื่นคำขอ แต่จากข้อเท็จจริงตามสำนวนการสอบสวนกลับปรากฏว่า ผู้อุทธรณ์ได้จดทะเบียนให้แก่นาย อ. และนาง ย. ทั้งที่โฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวมีการจดแจ้งข้อความห้ามโอนด้วยหมึกสีแดงไว้ทั้งฉบับของสำนักงานที่ดินและฉบับของเจ้าของที่ดิน กรณีจึงเป็นการที่ผู้อุทธรณ์มิได้ดำเนินการตามข้อ 20 (4) ของระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการให้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พ.ศ. 2548 ซึ่งหากผู้อุทธรณ์ได้ทำการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนก็จะทราบได้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตกอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี แต่ผู้อุทธรณ์ก็หาได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเป็นส่วนสาระสำคัญตามที่กฎกระทรวงและระเบียบกรมที่ดินได้กำหนดให้ต้องกระทำไม่ แม้ผู้อุทธรณ์จะอ้างว่า การจดทะเบียนในครั้งนี้มีนาง ส. เป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอและได้ทำการสอบสวนสิทธิแล้ว แต่นาง ส. มิได้แจ้งข้อเท็จจริงใด ๆ ให้ผู้อุทธรณ์ทราบก็ตาม เห็นว่า การสอบสวนสิทธิของนาง ส. เป็นเพียงการตรวจสอบสิทธิต่าง ๆ ของผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนในเบื้องต้นเท่านั้น การดำเนินการดังกล่าวหาได้เป็นเหตุให้ผู้อุทธรณ์หลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องทำการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ความสามารถของบุคคลผู้ยื่นคำขอ ความสมบูรณ์ถูกต้องของนิติกรรม รวมถึงข้อกำหนดห้ามโอน ก่อนลงลายมือชื่อจดทะเบียนตามที่ระเบียบกรมที่ดินได้กำหนดให้ต้องกระทำไม่ ผู้อุทธรณ์จึงมิอาจนำข้อเท็จจริงในส่วนนี้มาเป็นเหตุในการยกเว้นความผิดของตนได้ และแม้ผู้อุทธรณ์จะเพิ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้างานนิติกรรมเพียง 3 เดือน และไม่เคยเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในด้านการจดทะเบียนในที่ดินก็ตาม แต่ในเรื่องนี้หากผู้อุทธรณ์ได้ทำการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ผู้อุทธรณ์ก็ย่อมจะทราบได้โดยสภาพว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตกอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอน และไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ กรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือความชำนาญด้านการจดทะเบียนแต่อย่างใด หากแต่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบที่จะต้องทำการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เท่านั้น แต่ผู้อุทธรณ์ก็หาได้กระทำไม่ จนเป็นเหตุให้กรมที่ดินต้องดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีการเพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าวในเวลาต่อมา พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ดังนั้น การที่คู่กรณีในอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
                   ส่วนระดับโทษที่ผู้อุทธรณ์ได้รับนั้น ในเรื่องนี้แม้ผู้มีส่วนได้เสียกับการจดทะเบียนจะมิได้เรียกร้องค่าเสียหายหรือร้องเรียนกล่าวหาผู้อุทธรณ์ และจากการสอบสวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้อุทธรณ์มีเจตนาทุจริตก็ตาม แต่พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ ซึ่งทำให้กรมที่ดินต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียน และต้องออกคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนในเวลาต่อมา กรณีดังกล่าวย่อมส่งผลให้ภาพลักษณ์ของหน่วยงานเสียหาย ทำให้ประชาชนผู้ขอรับบริการขาดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับเมื่อได้พิจารณามาตรฐานระดับโทษที่สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดแนวทางการลงโทษไว้ และมาตรฐานการลงโทษของส่วนราชการซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้อุทธรณ์แล้วเห็นว่า ระดับโทษตัดเงินเดือนในอัตราร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน เป็นระดับโทษที่เหมาะสมแก่กรณีความผิดของผู้อุทธรณ์แล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
 
วันที่