Skip to main content
x

 

“การเป็นข้าราชการที่ดี”  

จากการบูรณาการความรู้จากโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท

 

          ผู้อ่านหลายท่านที่ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน คงเคยประสบพบเจอกับวลีสุดเก๋ที่ติดท้ายรถบางคันว่า “ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ต้องเป็นคนดี คนเก่ง” แต่ข่าวการทุจริตประพฤติมิชอบต่าง ๆ ของข้าราชการที่มีเป็นระยะ ๆ ช่างสวนทางกับวลีนี้เสียจริง จนทำให้ประชาชนต่างเอือมระอา และสิ้นศรัทธากับคำว่า “ข้าราชการ” จากที่กล่าวมานั้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า จะทำอย่างไรให้วลี “ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ต้องเป็นคนดี คนเก่ง” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติและได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างแท้จริงโดยมิใช่เป็นเพียงแค่วลีสวยหรูที่ติดอยู่ตามท้ายรถ เพื่ออวดเบ่งอภิสิทธิ์ชนของความเป็นข้าราชการที่มีต่อประชาชนเหมือนอย่างที่แล้วมา
          หากให้ท่านนึกถึงข้าราชการ ท่านจะนึกถึงในลักษณะใด คำว่า “ข้าราชการ” ถ้าพิเคราะห์แล้วจำแนกเป็นคำดังนี้ ข้า + ราช + การ  คำว่า “ข้า” นั้นบางแห่งให้ความหมายว่า “ผู้รับใช้” บางแห่งให้ความหมายว่า “ตัวตน”หรือ“คน”  ส่วนคำว่า “ราช” มาจากคำว่า “ราชะ” ซึ่งหมายถึง “พระราชา” หรือ “พระเจ้าแผ่นดิน” และคำว่า “การ” หมายถึง “งาน”หรือ“กิจการ” กล่าวโดยรวมคือ “ข้าราชการ” หมายถึง “คนที่ทำงานของพระราชา” แต่เหตุใดบางท่านถึงกล่าวว่า “ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน” เมื่อพิจารณาจะเห็นว่า ข้าราชการนั้นคือ คนที่ทำงานของพระราชา ซึ่งงานของพระราชา คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน ดังนั้น ในฐานะของคนที่ทำงานของพระราชา จึงมีหน้าที่อันสำคัญในการช่วยเหลืองานของพระราชาเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน เช่นเดียวกัน  ดังนั้น คำว่า “ข้าราชการ” นั้นจึงเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเปี่ยมไปด้วยอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับไว้เพื่อประชาชนนั่นเอง
          ที่ผ่านมาประชาชนเริ่มเสื่อมศรัทธาต่อ “ข้าราชการ” แล้วพวกเราในฐานะข้าราชการ จะทำอย่างไรให้การยอมรับและความศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เรื่องนี้เราจึงต้องย้อนกลับมามองความเป็นข้าราชการในอุดมคติก่อนว่าเป็นอย่างไร  “ข้าราชการในอุดมคติ” จะต้องเป็นคนดีและคนเก่ง แล้วคนดีและคนเก่งมีลักษณะเช่นใดนั้น เมื่อพิเคราะห์แล้วสามารถนิยามได้คือ  คนดีเป็นผู้ที่ละเว้นกรรมชั่วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่ประกอบกรรมดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เช่นกัน  ส่วนคนเก่งนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในงานที่ตนทำทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง ซึ่งการเป็นข้าราชการในอุดมคตินั้นจะต้องมีองค์ประกอบครบถ้วนทั้งสองประการดังที่กล่าวมา แต่เท่าที่ผ่านมาจะพบเห็นข้าราชการบางส่วน มีเพียงความเก่งแต่ขาดองค์ประกอบด้านความดี ดังนั้น เพื่อพัฒนาให้ข้าราชการเหล่านั้นเป็นข้าราชการในอุดมคติ จึงต้องปลูกฝังผ่านการเรียนรู้การเป็นข้าราชการที่ดี ซึ่งข้าราชการที่ดี จะมีองค์ประกอบอยู่ 4 ประการ คือ
          1. มีความรู้  คือ  มีความรู้ทั้งเชิงลึก และเชิงกว้าง ที่เป็นประโยชน์ต่องานของตน
          2. มีคุณธรรม  คือ  มีคุณธรรม จริยธรรมภายในจิตใจ และมีความประพฤติที่ดีงาม
          3. มีสัมพันธภาพ  คือ  มีความเป็นมิตร ไว้เนื้อเชื่อใจ รักใคร่สามัคคีกันในหมู่ข้าราชการ
          4. มีจิตสาธารณะ  คือ  การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
          ในปัจจุบัน สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำหลักสูตรต่าง ๆ หลากหลายหลักสูตรเพื่อพัฒนาให้ข้าราชการที่ได้เข้ารับการอบรมเป็นข้าราชการตามอุดมคติ เช่น หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดีของสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน และโครงการการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทของศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม โดยผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ที่จัดโดยศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม โดยใช้ระยะเวลาอบรมทั้งสิ้น 10 วัน  ในการอบรมจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง  โดยกิจกรรมช่วงที่ 1 เป็นกิจกรรมการฟังธรรมและการฝึกปฏิบัติธรรม โดยพระสาสนโสภณ (พิจิตร ฐิตวัณโณ) และพระเกริกเกียรติ์ กิตติวโร ณ วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 7 วัน และกิจกรรมช่วงที่ 2 เป็นการบรรยายถ่ายทอดความรู้ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์  และผศ.ดร.มลฤดี  สระฏัน เป็นวิทยากร ณ สำนักงาน ก.พ. และมีกิจกรรมการดูงานในโครงการสวนจิตรลดาในวันที่สองของกิจกรรมช่วงนี้  รวมเป็นเวลา 3 วัน
          ผู้เขียนจึงอยากจะถ่ายทอดสรุปสาระสำคัญในการอบรม ทั้ง 2 ช่วงกิจกรรมให้ผู้อ่านทุกท่านได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยกิจกรรมในช่วงที่ 1 ณ วัดโสมนัสวิหาร  สรุปสาระสำคัญที่ได้รับความรู้ ดังนี้
          1) ไตรสิกขา คือ การศึกษาอบรม 3 ระดับในทางพุทธศาสนา ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาในไตรสิกขา คือ พระอรหันต์ โดยคำว่า “สิกขา” เป็นภาษาบาลีแปลว่า “การศึกษา”  โดยไตรสิกขาประกอบด้วย สีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา หรือที่เรียกว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา”  โดยพระพุทธเจ้าสอนฆราวาส เรื่อง “ทาน ศีล ภาวนา” และสอนภิกษุสงฆ์ เรื่อง “ศีล สมาธิ ปัญญา” แต่เนื่องจาก “ศีล”จัดเป็นมหาทาน ดังนั้น “ทาน” จึงรวมอยู่ในหมวดของศีล  ส่วน “ภาวนา” นั้นประกอบด้วยทั้งสมาธิ และปัญญา ดังนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนฆราวาสและภิกษุเป็นสิ่งเดียวกันก็คือ ไตรสิกขา นั่นเอง  
          และไตรสิกขามีความเกี่ยวเนื่องกับมรรค 8 ในอริยสัจ 4  โดยที่อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ  ซึ่งเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์  ประกอบด้วย
                   ทุกข์  คือ สภาพที่ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้  ได้แก่ 1. การเกิด  2. ความแก่ชรา 3. ความเจ็บป่วย  4. ความตาย  5. ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น  6. การประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ 7. การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ
                   สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา 3 ได้แก่ 1. กามตัณหา (ความอยากและไม่อยากในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส)  2. ภวตัณหา (ความอยากทางจิต เช่น อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเกิด เป็นต้น) 3. วิภวตัณหา (ความไม่อยากทางจิต เช่น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากเกิด เป็นต้น)
                   นิโรธ คือ ผลของการดับทุกข์ หรือนิพพาน ความดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ ทำให้พบกับความสุขสงบ บริสุทธิ์ ผ่องใส เบิกบาน โดยนิพพานมี 3 ระดับ คือ 1.วิขัมปนนิพพาน (นิพพานชั่วคราว) ดับได้ด้วยการข่มไว้ 2.ปริยายนิพพาน (นิพพานบางส่วน) ดับได้บางส่วน  และ3.นิปริยายนิพพาน (นิพพานสิ้นเชิง) คือ ดับขันธ์ ดับกิเลส จัดเป็นนิพพานสูงสุด
                   มรรค คือ ทางปฏิบัติให้พ้นทุกข์ คือ มรรค 8 ประกอบด้วย 1. สัมมาทิฐิ (เห็นชอบ) 2. สัมมาสังกัปปะ (คิดชอบ) 3. สัมมาวาจา (วาจาชอบ) 4. สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) 5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) 6. สัมมาวายามะ (เพียรชอบ) 7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) 8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
          โดยเมื่อพิจารณาอริยสัจตามหลักวิทยาศาสตร์ จะพบว่า ทุกข์ เป็นปัญหา  สมุทัย เป็นเหตุเกิดปัญหา นิโรธ เป็นผลการดับปัญหา และ มรรค เป็นวิธีการดับปัญหา โดยความเกี่ยวเนื่องระหว่างมรรคกับไตรสิกขา คือสัมมาทิฐิ (เห็นชอบ) , สัมมาสังกัปปะ (คิดชอบ)  อยู่ในขั้นปัญญา ส่วนสัมมาวาจา (วาจาชอบ) , สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) , สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) อยู่ในขั้นศีล และสัมมาวายามะ (เพียรชอบ) , สัมมาสติ (ระลึกชอบ) , สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) อยู่ในขั้นสมาธิ
          จะเห็นว่ามรรค 8 มีลำดับขั้นโดยนำ ปัญญา มาก่อน ศีล สมาธิ  เนื่องจากเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าแสดงธรรมนั้นจะพิจารณาจากพื้นฐานของผู้ฟัง ซึ่งตอนที่แสดงธรรมนั้น ปัญจวัคคีย์มีศีลและสมาธิอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนปัญญาก่อน แต่ขณะที่คนทั่วไปนั้นมีศีลอ่อน พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนศีลก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า
            “ สมาธิที่ศีลหนุนแล้ว ย่อมมีผลมากอานิสงส์มาก  ปัญญาที่สมาธิหนุนแล้ว ย่อมมีผลมากอานิสงส์มาก  จิตที่ปัญญาหนุนแล้ว ย่อมพ้นจากกิเลสโดยถูกทางทีเดียว
                                                                                                                                     - พระพุทธเจ้า -
          โดย ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นใช้มุ่งกำจัดกิเลส ซึ่งกิเลสในทางพระพุทธศาสนามีอยู่ 3 ระดับ คือ
             1. วีติกกมกิเลส กิเลสอย่างหยาบ  ฟุ้งทางกายและวาจา คือ กาย 3 วาจา 4  ต้องใช้ศีลกำจัด
             2. ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสอย่างกลาง  กลุ้มรุมใจให้เดือดร้อน คือ นิวรณ์ 5  ต้องใช้สมาธิกำจัด
             3. อนุสัยกิเลส กิเลสอย่างละเอียด นอนสงบนิ่งอยู่ในสันดานคน คือ ราคะและโลภะ โทสะ และ โมหะ ต้องใช้ปัญญากำจัด
          2) นิวรณ์ คือ สิ่งที่ทำให้จิตสกปรก เป็นตัวกั้นจิตไม่ให้พบความสงบสุข โดยปกติจิตมนุษย์เป็นจิตประภัสสร คือผ่องใส เปรียบเหมือนน้ำใส แต่ที่จิตขุ่นมัวเพราะมีกิเลสเข้ามาอาศัย ซึ่งนิวรณ์ นับว่าเป็นกิเลสประเภทหนึ่งที่จัดเป็นกิเลสระดับกลาง ประกอบด้วย
                   1. กามฉันท์ ความรักใคร่ทางกาม เป็นรักที่เป็นราคะแบบหนุ่มสาว ทำให้จิตใจเร่าร้อน วุ่นวาย กระวนกระวาย เปรียบเหมือนน้ำที่ย้อมสี
                   2. พยาบาท ความปองร้ายหรือแค้น ผูกใจเจ็บ เกิดจากโทสะ ทำให้จิตใจเร่าร้อน ใจสั่น เปรียบเหมือนน้ำกำลังเดือด โดยมีลำดับการเกิดขึ้นดังนี้  
                       1) ปฏิฆะ ความไม่พอใจ ฉุน  2) โกธะ ความโกรธ หน้าบึ้ง ไม่อยากพูดคุย  3) โทสะ ความเกรี้ยวกราด  ด่าว่า ใช้กำลัง 4) พยาบาท ผูกใจเจ็บ เคียดแค้น คิดจะฆ่าทำร้าย  5) เวร  จองล้าง จองผลาญกันทุกภพทุกชาติ
                   3. ถีนมิทธะ ความท้อแท้ เกียจคร้าน ง่วงซึม เปรียบเหมือนน้ำที่มีจอกแหนอยู่ด้านบน
                   4. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและความรำคาญ ฆ่าความสุข ทำให้เป็นโรคจิต โรคประสาท เปรียบเหมือนน้ำที่มีระลอกคลื่น ไม่นิ่ง
                   5. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม สงสัยว่าบุญ บาป มีจริงหรือไม่ นรก สวรรค์ มีหรือไม่ สงสัยจึงไม่อยากทำ จึงไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม เปรียบเหมือนน้ำขุ่นที่มีสีปน
          ซึ่งนิวรณ์ทั้ง 5 นี้ จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน จะเกิดขึ้นเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งในแต่ละขณะจิตเท่านั้น
          3) พรหมวิหารธรรม คือ ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ ประกอบด้วย
                   1. เมตตา  ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข  มีศัตรูใกล้คือ ความรักแบบหนุ่มสาว ศัตรูไกล คือ ความโกรธหรือความพยาบาท
                   2. กรุณา  ความสงสาร ปรารถนาช่วยผู้อื่นที่มีทุกข์ให้พ้นทุกข์  มีศัตรูใกล้ คือ ความโศกเศร้าเสียใจ เมื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้  ศัตรูไกล คือ ความเบียดเบียน
                   3. มุทิตา  ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี  มีศัตรูใกล้ คือ ยินดีจนเกินไป หรือการยินดีที่อาศัยพวกพ้องหรืออาศัยเรือน  ศัตรูไกล คือ ความริษยา
                   4. อุเบกขา การวางเฉย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ อันตนไม่สามารถเข้าช่วยเหลือเขาได้  มีศัตรูใกล้ คือ การวางเฉยที่ขาดปัญญา  ศัตรูไกล คือ ความยินดี (ในความวิบัติของผู้อื่น) และยินร้าย (โมโห)
          4) ทศพิธราชธรรม  คือ ธรรมของผู้ปกครอง 10 ประการ  ประกอบด้วย
                   1. ทาน  คือ การให้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า อ่อนแอกว่า
                   2. ศีล  คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ
                   3. ปริจาคะ  คือ การเสียสละความสุขสวนตนเพื่อความสุขส่วนรวม
                   4. อาชฺชวะ  คือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง สุจริต
                   5. มัททวะ  คือ ความสุภาพ อ่อนน้อม อ่อนโยน มีสัมมาคารวะ
                   6. ตปะ  คือ ความเพียรทั้งการงาน และความเพียรเพ่งเผากิเลสไม่ให้จิตใจ ลุ่มหลง
                   7. อักโกธะ  คือ ความไม่โกรธ สุขุม อดกลั้น และการไม่แสดงอาการโกรธให้ปรากฏ
                   8. อวิหิงสา  คือ การไม่เบียดเบียน ไม่กดขี่ข่มเหง ไม่หลงในอำนาจ
                   9. ขันติ  คือ ความอดทนต่องานหนัก ความลำบาก คำติฉินนินทา
                 10. อวิโรธนะ  คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรม ทำในสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ
                     “ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย แต่คนดีทำได้ยาก  ความดีคนดีทำได้ง่าย แต่คนชั่วทำได้ยาก
                                                                               - พระพุทธเจ้า -
          กิจกรรมในช่วงที่ 2 ณ สำนักงาน ก.พ. สรุปสาระสำคัญในการอบรม ดังนี้
          1) พระบรมราโชวาทและหลักการทรงงาน  สำหรับเรื่องนี้ได้เรียนรู้ผ่านพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงสอนถึงคุณธรรม หลักการทรงงาน และคุณค่าของงานที่ปฏิบัติ ซึ่งมีหลักการประพฤติปฏิบัติจากพระบรมราโชวาท เช่น ความซื่อสัตย์ สุจริต , ความเพียร อดทน ขยัน , เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ , รู้จริงในหลักวิชาการ , มีระเบียบ ละเอียดรอบคอบ , มีความพอเพียง , จริงใจ ปรารถนาดีต่อผู้อื่น, ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม , กตัญญูต่อบิดามารดา ผู้มีพระคุณ และบ้านเมือง , ไม่อคติ , ไม่เห็นแก่ตัว , ไม่ติดตำรา , ไม่อคติ เป็นต้น
          ส่วนหลักการทรงงาน พระองค์ได้ทรงสอนและเป็นแบบอย่างหลายประการ เช่น
                  1. ความประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์  พระองค์ทรงใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น ดินสอ พระองค์ใช้เดือนละแท่ง และใช้จนกุด ประหยัดทุกอย่าง เป็นต้นแบบทุกอย่าง ทุกอย่างมีค่าสำหรับพระองค์ เงินทุกบาททุกสตางค์จะทรงใช้อย่างระมัดระวัง
                   2. การศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ  ก่อนที่พระองค์จะพระราชทานโครงการใด พระองค์ทรงศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจากข้อมูลเบื้องต้น จากเอกสาร แผนที่ สอบถามเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ ราษฎรในพื้นที่ และมีการนำมาทดลองภายในสวนจิตรลดา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และนำโครงการเหล่านั้นมาช่วยเหลือประชาชนของพระองค์
                   3. การมีส่วนร่วม พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับมาร่วมแสดงความคิดเห็น
                   4. รู้ รัก สามัคคี เป็นคำสอนของพระองค์ ที่มีค่าและความหมายลึกซึ้ง ดังนี้
                          รู้  คือ เราจะต้องรู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา เสียก่อน จึงจะลงมือทำ
                          สามัคคี  คือ การลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่า เราทำงานคนเดียวไม่ได้ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี
                          รัก  คือ เมื่อเรารู้ครบในกระบวนความแล้ว จะต้องมีความรักในการที่จะเข้าใจลงมือปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหานั้น ๆ
                   5. ไม่ติดตำรา เป็นคำสอนเกี่ยวกับจิตวิทยาชุมชน คือ “การไม่ติดตำรา” เป็นการไม่ผูกมัดกับวิชาการ และเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับการคำนึงถึง “หลักภูมิสังคม” ในการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” คือเราต้องเข้าใจคน เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจภูมิสังคม เข้าใจวัฒนธรรม และเข้าใจเขา แล้วจึงทำให้เขาเข้าใจเรา ให้เขาเข้าถึงเราด้วย เมื่อแต่ละฝ่ายเข้าใจและเข้าถึงกันแล้ว ก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาในขั้นต่อไป ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา โครงการของรัฐมักจะล้มเหลวเสมอ เพราะมักคิดและทำแบบสำเร็จรูป ในรูปแบบเดียวที่จะนำมาใช้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงมันใช้ไม่ได้ เพราะความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม จิตใจของคนแต่ละพื้นที่ นั้นไม่เหมือนกัน
                   6. ความเพียร พระองค์สอนให้มีความตั้งใจ ขยันหมั่นเพียร งานบางอย่างยาก ก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ ดังความตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสสอนข้อคิดเรื่องความเพียรจากพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ที่ว่า “..คนเราทำอะไรต้องมีความเพียร แม้ไม่เห็นฝั่ง ก็ต้องว่ายน้ำและมีคำตอบอยู่ว่ามีประโยชน์อย่างไร เพราะถ้าหากไม่เพียรที่จะว่ายน้ำเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ก็จะไม่พบเทวดา คนอื่นไม่มีความเพียรที่จะว่ายน้ำ ก็จมเป็นอาหารของปลา ของเต่า เพราะฉะนั้น ความเพียร แม้จะไม่ทราบว่า จะถึงฝั่งเมื่อไหร่ ก็ต้องเพียรว่ายน้ำต่อไป..”
                   7. ทำงานอย่างมีความสุข พระองค์ทรงพระเกษมสำราญและทรงมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน และเคยรับสั่งกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ครั้งหนึ่งว่า “..ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น..”
                       “การยึดมั่นในผลประโยชน์ของแผ่นดิน และความถูกต้องเป็นธรรม เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ เพราะการยึดมั่นดังกล่าว จะทำให้มีจิตใจมั่นคงเด็ดเดี่ยวในอันที่จะพากเพียรปฏิบัติหน้าที่ให้จนบรรลุผลสำเร็จ และสามารถป้องกันความผิดพลาดเสียหายอันจะเกิดแก่ตนแก่งานได้อย่างแท้จริง.”
                                                 พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน วันจันทร์ ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2539
          2) เศรษฐกิจพอเพียง  หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการที่มุ่งเน้นแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนให้ดำเนินไปในทางสายกลางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสอนปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด ซึ่งสรุปได้ดังนี้
                    ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมาย คือ สร้างความสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี  โดยที่ความพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีที่พอจะรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน  และเงื่อนไขพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวัง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ และจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร ความมีสติ ปัญญา และความรอบคอบ  เพื่อเน้นความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน

 

1
 
          3) โครงการพระราชดำริ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าดูงาน ณ สวนจิตรลดา  ผู้เขียนได้รับแนวคิด ความรู้จากการดูงานในสวนจิตรลดา และพบว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ห่วงใยประชาชนของพระองค์อย่างยิ่ง โดยพระองค์ทรงมองเห็นปัญหาของประชาชน แล้วจึงหาทางช่วยเหลือ แก้ปัญหาของประชาชน ซึ่งพระองค์ได้นำหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการทดลอง ค้นคว้า คิดหาวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโครงการส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ โดยเห็นได้จากโครงการสวนจิตรลดานั้น มีอยู่ 2 ส่วน คือธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไร และ ธุรกิจกึ่งแสวงหากำไร โดยเริ่มแรกพระองค์จัดทำโครงการที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อสร้างความมั่นคงต่อปากท้องของประชาชนให้พออยู่พอกิน ส่วนโครงการกึ่งแสวงหากำไรนั้น ดำเนินกิจการโดยไม่เน้นการแข่งขันและไม่แสวงหากำไรสูงสุด แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคของดี ราคาถูก และนำกำไรที่ได้มาพัฒนาต่อยอดโครงการต่าง ๆ ที่ไม่แสวงหากำไรภายในสวนจิตรลดา
          โครงการของพระองค์ในสวนจิตรลดามีอยู่มากมาย โดยมุ่งในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น การทดลองปลูกพันธุ์ข้าวต่าง ๆ การอนุรักษ์เนื้อเยื่อพันธุ์ไม้ การแปรรูปแกลบจากสิ่งที่ไม่มีค่า มาเป็นถ่านแกลบอัด อีกทั้งของเสียที่เป็นไอน้ำจากการแปรรูปแกลบ พระองค์ทรงไม่ทิ้งแต่ให้เก็บไว้ในรูปของน้ำส้มควันแกลบเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือแม้แต่การปศุสัตว์ พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ได้เห็นว่า ประเทศไทยในสมัยนั้นยังไม่มีโคนม จึงได้มีการจัดทำฟาร์มโคนมครั้งแรกในประเทศไทยภายในสวนจิตรลดา และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคนม ต่อมาเมื่อมีวิกฤตนมโคล้นตลาด พระองค์ได้ช่วยเหลือเกษตรกร โดยการรับซื้อนมโคดังกล่าวมาแปรรูปเป็นนมผงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องจากนมผงในสมัยนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  แต่ยังไม่เป็นที่นิยมในตลาดจนกระทั่งเกิดวิกฤตโคนมในต่างประเทศ ทำให้นมผงขาดตลาดนมผงจิตรลดาจึงเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทยในยุคนั้น  ต่อมาพระองค์ทรงดำรินำนมผงบางส่วนมาผสมน้ำตาลแล้วอัดเม็ด เพื่อนำมาให้เด็กไทยได้รับประทานแทนลูกอมและได้รับประโยชน์จากนมไปพร้อมกัน  รวมถึงมีการเพาะพันธุ์ปลานิลที่ได้รับจากราชวงศ์ญี่ปุ่น เพื่อนำมาให้ประชาชนเพาะเลี้ยงเพื่อเสริมสร้างรายได้และได้รับประทานกัน เป็นต้น และภายในสวนจิตรลดามีพิพิธภัณฑ์ช้างต้น ที่พระองค์ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับช้างต้นให้กับชนรุ่นหลัง
          จะเห็นได้ว่า โครงการส่วนพระองค์ และโครงการพระราชดำริ ที่มากมายของพระองค์นั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้อง เสริมสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทย รวมถึงมีแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธุ์ไม้หายาก คิดค้นพลังงานทดแทน และอนุรักษ์วัฒนธรรมและองค์ความรู้เกี่ยวกับช้างต้นให้กับชนรุ่นหลัง นับว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้สละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยแท้จริง สมดังพระปฐมบรมราชโองการ ที่ทรงพระราชทานเมื่อวันศุกร์ ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า   “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
        4) การเป็นข้าราชการที่ดี เป็นการเรียนรู้เพื่อเป็นข้าราชการผู้ทำงานเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดย   ยึดแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้งานของแผ่นดินเรียบร้อยสมบูรณ์ที่สุด  โดยการจะเป็นข้าราชการที่ดีนั้น ข้าราชการควรจะยึดหลักการในการดำรงตน ดังนี้
 
2
 
                   1. รู้  ประกอบด้วยปัญญา 3 ส่วน คือ 1) ความรู้  2) การปฏิบัติ  3) ความประพฤติ กล่าวคือ ข้าราชการนั้นต้องมีความรู้ในงานหน้าที่ของตน ความรู้ในหลักวิชาการ มีการปฏิบัติที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ทำงานอย่างเป็นระบบ มีวิสัยทัศน์ และมีความประพฤติที่เหมาะสม มีคุณธรรม จริยธรรม
                   2. รัก  ประกอบด้วยเมตตา คือ 1) รักประชาชน  2) รักหน่วยงาน  3) รักตนเอง  กล่าวคือ ข้าราชการนั้นต้องรักประชาชน โดยให้บริการที่ดี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง  รักหน่วยงาน โดยปฏิบัติตน ปฏิบัติงานให้ดี ส่งเสริมภาพลักษณ์ของหน่วยงาน และรักตนเอง โดยมีความซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน และดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
                   3. สามัคคี เพื่อทำงานให้อย่างสอดประสานกัน โดยต้องมีทัศนคติเชิงบวก มีมนุษยสัมพันธ์ แบ่งปัน โอบอ้อมอารี เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง
                   4. การให้ ต้องเป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน  รวมถึงการให้ความเสมอภาค  ให้โอกาสในการพัฒนา
          และทั้งหมดนี้ คือ สาระสำคัญจากการเข้าร่วมโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาททั้ง 10 วัน ของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่าน และผู้อ่านทุกท่านสามารถนำความรู้นี้ไปปรับใช้ในการปฏิบัติราชการ และมุ่งมั่นในการเป็นข้าราชการที่ดีเพื่อเป็นกำลังของแผ่นดินต่อไป และหวังว่า วลี“ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ต้องเป็นคนดี คนเก่ง” จะไม่ใช่เพียงแค่เพียงสติ๊กเกอร์ติดท้ายรถอีกต่อไป แต่จะเป็นสิ่งที่ติดตรึงในใจของข้าราชการทุกคน ในฐานะ“ข้าราชการ” ผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนอย่างแท้จริง

 

11
 
22

 

33

 

44

 

55

 

ผู้เขียน  :  นายธนรัชต  ตรีศรี

ที่มา     :  รายงานสรุปผลการเข้าร่วมโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทของนายธนรัชต  ตรีศรี   สำนักพิทักษ์ระบบคุณธรรม  สำนักงาน ก.พ.  

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่