Skip to main content
x

 

เพราะเหตุใด การดูแลพ่อแม่ และการสงเคราะห์บุตรถึงต้องถูกไล่ออกจากราชการ

 

                   วันนี้เป็นวันเปิดทำการวันแรกหลังจากผ่านเทศกาลวันแม่แห่งชาติ  “ก.พ.ค.ขอบอก” จึงอยากจะกล่าวถึงเรื่องราวของผู้อุทธรณ์รายหนึ่งที่ทำหน้าที่ของลูกที่ดูแลบำรุงพ่อแม่ซึ่งเป็นมงคลชีวิตประการหนึ่ง  และทำหน้าที่ของพ่อแม่ในการสงเคราะห์บุตร ซึ่งเป็นมงคลชีวิตอีกประการหนึ่งตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์  แต่ทำไมผู้อุทธรณ์รายนี้ไม่ได้รับคำชื่นชมจากสังคม  ตรงกันข้ามกลับถูกลงโทษถึงขนาดถูกไล่ออกจากราชการ
                   เรื่องราวของผู้อุทธรณ์รายนี้เริ่มต้นที่ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ผู้อุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าการเงิน  โดยมีหน้าที่เป็นผู้รับเงินค่าเช่าเวลาจากหน่วยงานภายนอกและออกใบเสร็จ  รวมทั้ง นำเงินที่ได้รับส่งให้ต้นสังกัด  แต่เกือบ 1 ปีให้หลังได้มีการตรวจสอบพบว่ารายได้ค่าสนับสนุนการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ ขาดหายไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวนแสนกว่าบาท  ผู้บังคับบัญชาจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้  และได้ความว่า ผู้อุทธรณ์นำเงินรายได้ส่งให้ต้นสังกัดล่าช้ากว่ากำหนดทำให้ราชการต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มอีกด้วย  ผู้บังคับบัญชาจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยในเวลาต่อมา  ซึ่งแม้เรื่องนี้ผู้อุทธรณ์ได้ยอมรับผิดและสารภาพว่าตนเป็นผู้นำเอาเงินเหล่านั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวจริง  และได้ชดใช้เงินดังกล่าวคืน  พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามภาษีมูลค่าเพิ่ม ครบถ้วนทั้งหมดในระหว่างที่มีการดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้อยู่ก็ตาม  แต่พฤติการณ์นี้คณะกรรมการสอบสวนก็เห็นว่า ผู้อุทธรณ์มีหน้าที่เรื่องการเก็บเงินดังกล่าว  แล้วอาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ของตนนำเงินของทางราชการไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว  เป็นระยะเวลาต่อเนื่องถึง 10 เดือน  หากไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงาน  ผู้อุทธรณ์ก็อาจกระทำการต่อเนื่องต่อไป  จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริต  ในที่สุด กรมต้นสังกัดจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. เพื่อขอลดหย่อนโทษ เนื่องจากกระทำผิดไปด้วยความจำเป็น
                   กรณีนี้ ก.พ.ค. พิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้ผู้อุทธรณ์จะกล่าวอ้างว่าได้กระทำไปด้วยความจำเป็น เนื่องจากได้หย่าขาดจากภรรยาต้องรับผิดชอบครอบครัวเพียงคนเดียว ประกอบกับบุตรชายเจ็บป่วยบ่อยและเริ่มเข้าเรียนหนังสือ อีกทั้งยังต้องรับผิดชอบดูแลบิดา มารดาซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ใดๆ จึงมีความจำเป็นต้องนำเงินไปใช้เลี้ยงดูครอบครัวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยตั้งใจว่าจะนำเงินมาใช้คืนในภายหลังก็ตาม แต่เมื่อพฤติการณ์ความผิดของผู้อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  การกล่าวอ้างเหตุจำเป็นซึ่งเป็นเหตุส่วนตัว หรือการคืนเงินดังกล่าวก็ไม่เป็นเหตุให้ลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออกจากราชการได้ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งแจ้งเวียนตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ที่ได้วางแนวทางเกี่ยวกับการลงโทษข้าราชการผู้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการว่า การลงโทษผู้กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งควรลงโทษเป็นไล่ออกจากราชการ การนำเงินที่ทุจริตไปแล้วมาคืนหรือมีเหตุอันควรปรานีอื่นใด ไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออก แต่อย่างใด  ดังนั้น การที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว  อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น  วินิจฉัยยกอุทธรณ์
                  เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า  การดูแลบำรุงพ่อแม่ และการสงเคราะห์บุตรเป็นมงคลชีวิตที่ควรต้องกระทำ  แต่ก็ต้องทำโดยวิธีอันชอบธรรมด้วย  เพราะมงคลชีวิตที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้แล้วนั้น มีถึง 38 ประการ  หากทำตามมงคลชีวิตหนึ่ง  แต่ไปละเมิดมงคลชีวิตอื่นๆ เช่น การตั้งตนชอบ  หรือ การมีวินัยที่ดี เป็นต้น ก็คงไม่ได้รับคำชื่นชมจากสังคม  แถมอาจได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายบ้านเมืองด้วยนะ.. ขอบอก...
 
ประเภทเนื้อหา
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.