Skip to main content
x

         

ป่วยจนต้องขาดงานผิดวินัยหรือไม่

 

          วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” จะขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับข้าราชการท่านหนึ่งที่เกิดล้มป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่กลับไม่บอกกล่าวแก่ผู้บังคับบัญชาหรือแจ้งให้แก่ใครทราบ ทั้งยังไม่ยื่นใบลาตามระเบียบของทางราชการอีกด้วย  จนถูกลงโทษปลดออกจากราชการฐานละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และได้มายื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.
          เรื่องนี้ปรากฏว่า ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษปลดออกจากราชการกรณีที่ขาดราชการติดต่อกัน 31 วัน และ 22 วันตามลำดับ โดยผู้อุทธรณ์ได้อุทธรณ์ว่า ตนไม่ได้มีเจตนาละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด  แต่เนื่องจากอำเภอที่ตนไปอยู่นั้นมีงานที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก  ประกอบกับมีอากาศที่หนาวเย็นเป็นเหตุให้อาการหอบหืดของตนซึ่งเป็นโรคประจำตัวและโรคความดันโลหิตสูงกำเริบ  ตนจึงเข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลของอำเภอ  และภายหลังแพทย์ตรวจพบเบาหวานเพิ่มเติม  อีกทั้งมีอาการเหนื่อยหอบเพราะปอดใช้ได้เพียง 26 % อีกด้วย  แต่กรณีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างที่ขาดราชการไปนั้น  ผู้อุทธรณ์ไม่ได้แจ้งให้ผู้ใดได้ทราบว่าขาดราชการด้วยเหตุอันใด  หรือไม่ขอให้ญาติช่วยแจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาถึงเหตุแห่งการขาดราชการนั้น รวมทั้งไม่ยอมยื่นใบลาตามระเบียบของทางราชการในช่วงที่ตนมาทำงานในวันแรกหลังจากขาดราชการไปเนื่องจากเหตุเจ็บป่วยอีกด้วย
          อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ผู้อุทธรณ์ได้ยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมซึ่งเป็นสำเนาเวชระเบียนการเข้ารับการรักษาตัวเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้อุทธรณ์เป็นทั้งคนไข้ในและคนไข้นอกของโรงพยาบาลต่างๆ ในช่วงเวลาที่ขาดราชการดังกล่าว รวมทั้งจากถ้อยคำพยานซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานที่ให้ถ้อยคำว่าเห็นผู้อุทธรณ์มาร่วมงาน  หรือร่วมประชุมในบางวัน  จึงทำให้ ก.พ.ค. พิจารณาเห็นว่าผู้อุทธรณ์มิได้ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด  แต่การที่ผู้อุทธรณ์ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการในบางวัน  และไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดได้ทราบว่าตนเจ็บป่วยหรือเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทั้งที่มีโอกาสจะแจ้งได้ เนื่องจากผู้อุทธรณ์ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลตลอดระยะเวลาที่ขาดราชการ  อีกทั้งไม่ได้เจ็บป่วยถึงขนาดที่ไม่สามารถบอกกล่าวใครได้ การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการกระทำที่ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการตามมาตรา 82 (2) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  จึงวินิจฉัยให้ลดโทษผู้อุทธรณ์จากปลดออกจากราชการเป็นลดเงินเดือนร้อยละ 4
          เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์เตือนใจข้าราชการว่า หากเจ็บป่วยจนต้องขาดราชการแล้ว  ก็ควรต้องแจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาให้ทราบ และยื่นใบลาตามระเบียบของทางราชการด้วย มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการและไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ จนกลายเป็นความผิดทางวินัยได้นะ..ขอบอก...

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่