Skip to main content
x
 

ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ก.พ.ค.   

 

                 “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ขอเสนอเรื่องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโต้แย้งกรณีผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ก.พ.ค.  เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ผู้ร้องทุกข์ได้ยื่นคำร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และ ก.พ.ค. ได้พิจารณาวินิจฉัยและแจ้งคำวินิจฉัย ก.พ.ค. ไปยังผู้ร้องทุกข์ พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบว่าผู้ร้องทุกข์สามารถใช้สิทธิโต้แย้งโดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีเขตอำนาจไปด้วย แต่ผู้ร้องทุกข์ยังไม่พอใจในผลการวินิจฉัยบางประเด็น จึงร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  โดยที่ข้อ 42 (5) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ ก.พ.ค. รับเรื่องร้องทุกข์ที่ได้เคยมีการร้องทุกข์และได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วไว้พิจารณา ประกอบกับข้อ 56 ของกฎ ก.พ.ค. ฉบับดังกล่าว กำหนดว่าเมื่อ ก.พ.ค. ได้วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์และองค์คณะวินิจฉัยได้จัดทำคำวินิจฉัย ก.พ.ค. แล้ว ให้แจ้งให้คู่กรณีทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว คำวินิจฉัยนั้นให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไป ซึ่งเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่การอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งต้องโต้แย้งไปยังผู้ออกคำสั่งก่อนเพื่อให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีนี้เป็นเรื่องที่ ก.พ.ค. เคยมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว จึงไม่รับคำร้องทุกข์ดังกล่าวไว้พิจารณาและให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
                     จากกรณีตัวอย่างข้างต้น เห็นได้ว่าหากข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดยื่นคำร้องทุกข์ไม่ถูกต้อง ก.พ.ค. ย่อมไม่มีอำนาจรับเรื่องร้องทุกข์ของท่านไว้พิจารณาให้ได้  สำหรับกรณีนี้หากผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ก.พ.ค.  ผู้ร้องทุกข์สามารถใช้สิทธิโต้แย้งโดยฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีเขตอำนาจ อันจะทำให้เรื่องดังกล่าวได้รับการพิจารณาโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปโดยเร็ว
                    ยื่นถูกที่  ถูกต้อง  ไม่เสียเวลา  นะจ๊ะ  ขอบอก
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 4 ส.ค. 58)
วันที่