Skip to main content
x
 

แม้ไม่สัมภาษณ์ การคัดเลือกก็ชอบด้วยกฎหมาย (2)

       
               สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน “ก.พ.ค. ขอบอก” ในวันนี้จะขอเสนอเรื่องราวต่อจากครั้งที่แล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้อำนวยการสำนักรายหนึ่งร้องทุกข์ว่า การคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีในกรมที่ตนสังกัดอยู่นั้นดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนด เพราะตนมีทั้งความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานที่เป็นที่ประจักษ์มากกว่า จึงขอให้ ก.พ.ค. วินิจฉัยยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีดังกล่าว ซึ่งคราวที่แล้วได้บอกกล่าวคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ในส่วนของการพิจารณาการดำเนินการคัดเลือกในกรณีนี้ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0701/ว 9 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 และหนังสือสำนักงาน ก.พ. ด่วนที่สุด ที่ นร 1003/ว 13 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2549 แล้ว นั้น
                ในวันนี้จะขอบอกกล่าวการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ในประเด็นที่ผู้ร้องทุกข์อ้างว่า ตั้งแต่ตนยื่นใบสมัครก็ไม่เคยถูกเรียกตัวไปเข้ารับการสัมภาษณ์หรือนัดให้ไปแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ เลยนั้น ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0701/ว 9 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 มิได้กำหนดเป็นเงื่อนไขบังคับว่าวิธีการที่ใช้ในการประเมินจะต้องกระทำโดยวิธีการสัมภาษณ์เท่านั้น เพราะไม่อาจสรุปได้ว่าเมื่อไม่มีการสัมภาษณ์ผู้สมัคร จะทำให้ไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมิน อีกทั้งเมื่อพิจารณารายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประกอบกับประกาศรับสมัครคัดเลือกฯ แล้วปรากฏว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพียงว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการคัดเลือกโดยประเมินจากเอกสาร ข้อมูลต่างๆ และอาจจะสัมภาษณ์เพิ่มเติม (ถ้ามี) เท่านั้น มิได้กำหนดเฉพาะเจาะจงว่าให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยการสัมภาษณ์แต่อย่างใด ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงสามารถประเมินโดยใช้วิธีการอื่นๆ ได้ กรณีนี้ได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาประเมินจากเอกสารและข้อมูลต่างๆ ที่ผู้สมัครจัดทำขึ้นตามแบบที่หนังสือสำนักงาน ก.พ. กำหนด
              นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนเริ่มการพิจารณาให้คะแนนผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก คู่กรณีในการร้องทุกข์ (ปลัดกระทรวง) ได้หารือที่ประชุมว่าจะพิจารณาโดยให้มีการสัมภาษณ์ประกอบด้วยหรือไม่ ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ดำเนินการคัดเลือกตามแนวทางและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยไม่ต้องสัมภาษณ์ผู้สมัคร ฉะนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อมูลด้านภารกิจของส่วนราชการ บทบาทและลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่ง ลักษณะของบุคคลตามความต้องการของตำแหน่ง และข้อมูลบุคคลตามที่ปรากฏแล้วเห็นว่าเป็นการพิจารณาคัดเลือกที่มีข้อมูลเพียงพอแล้ว คำสั่งกระทรวงที่แต่งตั้งรองอธิบดีนี้ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทุกข์
               หวังว่าเรื่องนี้คงจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเพื่อนๆ ข้าราชการเสียทีนะคะว่า แม้ไม่สัมภาษณ์ การคัดเลือกก็ชอบด้วยกฎหมายได้ค่ะ แล้วพบกับเรื่องราวความรู้น่าสนใจกันใหม่ฉบับหน้านะคะ ... สวัสดีค่ะ
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 24 พ.ย. 2558)

 

วันที่