Skip to main content
x
 

แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นกลาง

         
        วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นกลางของผู้ที่ทำหน้าที่กรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงให้รับฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการดำเนินการ  โดยอุทธรณ์เรื่องนี้เป็นกรณีที่ผู้อุทธรณ์ที่ 1 และผู็อุทธรณ์ที่ 2 ซึ่งเป็นนักทัณฑวิทยาชำนาญการ และนักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญการ ตามลำดับ ในเรือนจำแห่งหนึ่ง อุทธรณ์คำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ ตามมาตรา 82 (3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กรณีบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้ผู้ต้องขังชาย (ข.ช.) ดำ ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา หลบหนีออกจากเรือนจำ แต่สามารถติดตามจับตัวคืนมาได้ในวันต่อมา
         ในคำอุทธรณ์มีประเด็นที่ผู้อุทธรณ์ได้อุทธรณ์ว่า คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งเรือนจำจังหวัดแห่งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้แต่งตั้งนายแดง นักทัณฑวิทยาชำนาญการ เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งที่ในวันเกิดเหตุ นายแดงปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ป้อม 2 มีหน้าที่รับผิดชอบแนวกำแพงเรือนจำด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นด้านที่ผู้ต้องขังหลบหนี คำสั่งลงโทษจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ ก.พ.ค. ยกเลิกคำสั่งลงโทษด้วย
         กรณีนี้ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในวันเกิดเหตุนายแดง ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์กลางวัน ป้อม 2 และนายเขียว ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์กลางวัน ป้อม 3  มีหน้าที่สำคัญในการตรวจตราดูแลความมั่นคงแข็งแรงบริเวณด้านทิศเหนือของเรือนจำตลอดทั้งแนว  แต่ ข.ช. ดำ ได้อาศัยโอกาสที่เรือนจำกดกริ่งสัญญาณเรียกผู้ต้องขังไปรวมตัวเพื่อตรวจสอบก่อนขึ้นเรือนนอน โดยหลบซ่อนตัวแล้วข้ามรั้วกั้นไปยังแดนฝึกวิชาชีพ และปีนกำแพงด้านทิศเหนือของเรือนจำ หลบหนีไปได้  แต่ปรากฏว่าในเวลาต่อมา นายแดงได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยในรายงานการสอบข้อเท็จจริงไม่ได้มีการตรวจสอบว่านายแดงได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ป้อม 2 ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุหรือไม่ บกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่ หรือต้องมีส่วนรับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร และนายแดงก็ไม่ได้ถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกว่ากล่าวตักเตือน  ในขณะที่เจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกว่ากล่าวตักเตือน
         ดังนั้น การที่นายแดงได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง จึงถือได้ว่านายแดงมีเหตุอื่นซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางได้ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้คำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ผู้อุทธรณ์ที่ 1 และผู้อุทธรณ์ที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย  ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้คู่กรณีในอุทธรณ์ยกเลิกคำสั่งที่ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้อุทธรณ์ที่ 1 และผู้อุทธรณ์ที่ 2
         นี่จึงเป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ที่อยากเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ตระหนักในเรื่องของการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ไม่ควรนำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ความผิดในเรื่องที่จะต้องสืบสวนนั้นมาร่วมให้เป็นคณะกรรมการด้วย
(ตีพิพ์ ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 13 ต.ค. 2558)

 

วันที่