Skip to main content
x

 

เหตุเกิดจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน

 

         “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอเสนอเรื่องราวของข้าราชการระดับผู้อำนวยการสำนักท่านหนึ่งที่ได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ร้องทุกข์และข้าราชการอีก 5 ราย ซึ่งผู้ร้องทุกข์กล่าวอ้างด้วยว่า คณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งดังกล่าวมีพฤติการณ์ส่อไปในทางเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ร้องทุกข์และผู้ถูกสอบสวนด้วย
          ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องทุกข์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง แต่โดยที่คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหา ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ร้องทุกข์ทราบ พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงของผู้ร้องทุกข์ และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นก็ต้องรายงานผลการสอบสวนและความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา  หากผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องทุกข์กระทำผิดวินัยและสั่งลงโทษผู้ร้องทุกข์แล้ว  ผู้ร้องทุกข์ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. ตามมาตรา 114 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในหมวด 9 การอุทธรณ์ได้  จึงเห็นได้ว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรรมการสอบสวนไม่ใช่กรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ได้ ผู้ร้องทุกข์จึงไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ร้องทุกข์
          สำหรับคำกล่าวอ้างว่า คณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งดังกล่าวมีพฤติการณ์ส่อไปในทางเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ร้องทุกข์และผู้ถูกสอบสวนนั้น เป็นกรณีที่ผู้ร้องทุกข์มีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของคณะกรรมการสอบสวนมิใช่ของผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด ผู้ร้องทุกข์จึงไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ตามมาตรา 122 มาตรา 123 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552  ก.พ.ค. จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องทุกข์นี้ไว้พิจารณาและจำหน่ายเรื่องร้องทุกข์ออกจากสารบบ
          จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้บัญญัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาไว้ในหมวด 7 การดำเนินการทางวินัย ที่ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการหากพบพฤติการณ์ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย  และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว  กฎหมายก็มีช่องทางให้ผู้ถูกดำเนินการนั้นทบทวนคำสั่งที่เห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินการดังกล่าวได้ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ และหมวด 10 การร้องทุกข์  ดังนั้น การมาร้องทุกข์ก่อนกระบวนการจะแล้วเสร็จจึงมิอาจทำได้นะ  ขอบอก
 
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2559)

 

วันที่