Skip to main content
x
 

เหตุเกิดจากการกู้เงินธนาคาร

             
            “ก.พ.ค. ขอบอก” คราวนี้ขอเสนอเรื่องราวของนิติกรชำนาญการรายหนึ่งที่ยื่นคำขอกู้เงินกับธนาคารออมสิน และทำหนังสือรับรองเงินเดือนมีข้อความว่า “ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) จำนวน 6,000 บาท” ทั้งที่ยังไม่มีการเสนอผลงานและได้รับคำสั่งให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษดังกล่าว เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ลงนามรับรองและได้นำหนังสือรับรองเงินเดือนฉบับดังกล่าวไปใช้ประกอบคำขอกู้เงินกับธนาคาร โดยธนาคารผู้ให้กู้เชื่อว่ามีรายได้ตามหนังสือรับรองเงินเดือนจริงและได้อนุมัติเงินกู้ให้กับผู้อุทธรณ์จำนวน 1,850,000 บาท ซึ่งมีระยะเวลาในการผ่อนชำระรวม 156 งวด งวดละไม่น้อยกว่า 19,500 บาท โดยมีเพื่อนข้าราชการ
รายหนึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ แต่นิติกรรายนี้กลับผิดนัดตั้งแต่งวดแรก และผิดนัดเรื่อยมา จนกระทั่งสำนักงานกฎหมายซึ่งได้รับมอบอำนาจจากธนาคารออมสินได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ผู้ค้ำประกันจึงได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการและมีคำสั่งลงโทษลดเงินเดือนร้อยละ 4 นิติกรรายนี้จึงได้อุทธรณ์คำสั่งไปยัง ก.พ.ค.
              ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ที่ผู้อุทธรณ์ได้ยื่นหนังสือรับรองเงินเดือน โดยระบุว่าได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) จำนวน 6,000 บาท ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงให้ผู้บังคับบัญชาลงนามในหนังสือรับรองฉบับดังกล่าวเพื่อประกอบการขอกู้เงินนั้น เป็นการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาและเมื่อธนาคารผู้ให้กู้เชื่อว่า ผู้อุทธรณ์มีรายได้ตามหนังสือรับรองเงินเดือนจริงจึงได้อนุมัติเงินกู้ให้กับผู้อุทธรณ์ แต่ผู้อุทธรณ์กลับไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้ จนทำให้ธนาคารต้องว่าจ้างทนายความติดตามทวงถามผู้อุทธรณ์และผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ต่อไปนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวแม้ทางราชการจะมิได้เสียหายเป็นตัวเงินโดยตรง แต่ก็เป็นความเสียหายเกี่ยวกับภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของระบบราชการโดยรวม จึงเป็นกรณีที่ไม่รักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ อีกประการหนึ่ง ดังนั้น การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษลดเงินเดือนร้อยละ 4 จึงถูกต้องเหมาะสมกับกรณีความผิดแล้ว
             นี่จึงเป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ที่แม้จะไม่ได้กระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่  แต่สำหรับข้าราชการแล้วหากการกระทำที่ผิดนั้นไปกระทบกับภาพลักษณ์ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของระบบราชการโดยรวมการกระทำนั้นก็เป็นความผิดวินัยได้เช่นกันนะจะบอกให้...
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558)

 

วันที่