Skip to main content
x

 

เป็นกรรมการสืบสวนแล้วจะเป็นกรรมการสอบสวนได้หรือไม่

        

        คราวที่แล้ว “ก.พ.ค. ขอบอก” ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ ก.พ.ค. พิจารณากรณีของการนำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ความผิดมาแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการสืบสวน  โดยได้พิจารณาในรายละเอียดของเรื่องแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  แต่ผู้มีอำนาจเห็นชอบตามผลการสืบสวนนั้น  จึงให้กลับมาแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบในเวลาต่อมา  หลังจากนั้น  จึงได้มีคำสั่งลงโทษ ซึ่ง ก.พ.ค. เห็นว่า การแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวถือได้ว่ามีเหตุอื่นซ่ึงมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่งพรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แล้ว  คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  
         คราวนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” จึงขอต่อเนื่องบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นกลางของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการต่อ  โดยจะเน้นไปที่การเป็นกรรมการสอบสวนวินัย  เนื่องจากคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า คำสั่งลงโทษทางวินัยเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น การดำเนินการสอบสวนทางวินัยและการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยจึงเป็นการพิจารณาทางปกครอง ซึ่งบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการไปพิจารณาทางปกครองก็จะต้องมีความเป็นกลาง  หาไม่แล้วผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ ดังนั้น หากมีคำถามว่าจะสามารถดำเนินการแต่งตั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการสืบสวนให้เป็นกรรมการสอบสวนวินัยได้หรือไม่  ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าอย่างไร...
          ขอบอกว่า ในประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 600/2554 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และคดีหมายเลขแดงที่ อ. 87/2556 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นกรณีที่สรุปได้ว่า กรรมการสอบสวนวินัยจำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งมาจากกรรมการสืบสวน  ศาลปกครองจึงเห็นว่าผลการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงย่อมคาดหมายได้อยู่แล้วว่าไม่อาจแตกต่างไปจากผลการสืบสวนข้อเท็จจริง การพิจารณาทางปกครองของบุคคลดังกล่าวจึงไม่มีความเป็นกลาง  อีกทั้งเห็นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีนั้นๆ ก็ไม่มีความจำเป็นถึงขนาดหากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ  หรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไข  และเป็นกรณีที่ไม่อาจถือได้ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการที่มีประเด็นดังกล่าว ตามนัยมาตรา 18 แห่งพรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  ดังนั้น การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้คำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
          กรณีนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่อยากจะเล่าสู่กันฟังเพื่อให้พึงตระหนักและไม่ละเลยในเรื่องการพิจารณาคัดคนมาทำหน้าที่กรรมการสอบสวนวินัย ที่หากไม่ปรากฏว่าถ้าปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ  หรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไข  และเป็นกรณีที่ไม่อาจถือได้ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้แล้ว  ผู้มีอำนาจก็ไม่ควรแต่งตั้งผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินการสืบสวนให้เป็นกรรมการสอบสวนในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
(ตีพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 20 ต.ค. 2558)

 

วันที่