Skip to main content
x

 

เบิกค่าเช่าบ้านเท็จ

                   

                     “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอเสนอเรื่องราวของข้าราชการรายหนึ่งซึ่งได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ไล่ออกจากราชการต่อ ก.พ.ค. กรณีเบิกค่าเช่าบ้านอันเป็นเท็จ โดยผู้อุทธรณ์รายนี้เดิมรับราชการตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ ได้ทำสัญญาเช่าบ้านจากนาง ก. มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน อัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท หลังจากทำสัญญาเช่าแล้วนาง ก. ไม่เคยเห็นผู้อุทธรณ์มาอาศัยในบ้านที่เช่า แต่เห็นนาย ข. มาอยู่อาศัยกับครอบครัว และได้รับค่าเช่าบ้านจากนาย ข. เป็นประจำทุกเดือน แต่ออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้อุทธรณ์ตามที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอ โดยนาง ก. ได้รับเงินค่าเช่าบ้านตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม รวม ๖ เดือน ต่อมาเดือนสิงหาคม นาง ก. ได้ขายบ้านหลังดังกล่าวให้กับนาง ค. หลังจากขายบ้านไปแล้วไม่ได้รับเงินค่าเช่าบ้านจากผู้อุทธรณ์หรือนาย ข. อีกเลย แต่นาย ข. ก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวและได้ชำระค่าเช่าบ้านให้กับนาง ค. เรื่อยมา
                     มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า คำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อพิจารณาคำให้การของนาย ข. ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้อุทธรณ์ได้เบิกเงินค่าเช่าบ้าน อัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท และผู้อุทธรณ์ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านเช่าจริงย่อมไม่มีเหตุผลอันใดที่ผู้อุทธรณ์จะมอบเงินค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ให้นาย ข. นำไปให้ผู้ให้เช่าทุกเดือนรวม 20 เดือน จึงเชื่อว่า เงินที่ผู้อุทธรณ์มอบให้นาย ข. ไม่ใช่เงินค่าเช่าบ้านตามที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้าง อีกทั้งการที่ผู้อุทธรณ์อ้างว่าไม่ทราบว่า นาง ก. ผู้ให้เช่าได้ขายบ้านเช่าให้กับนาง ค. ไปแล้วนั้น ก็ยิ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้อุทธรณ์ไม่ได้เข้าอยู่ในบ้านที่เช่าจริง ถ้าผู้อุทธรณ์ได้เช่าอยู่อาศัยในบ้านที่เช่าจริงย่อมจะต้องทราบว่า นาง ก. ได้ขายบ้านให้กับ นาง ค. แล้ว พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์ปกปิดความจริงที่ว่าตนไม่ได้เข้าอาศัยในบ้านที่เช่าและนำใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านที่นาง ก. ลงลายมือชื่อไว้ล่วงหน้า อีกทั้งใช้ใบเสร็จรับเงินที่มีลายมือชื่อคล้ายลายมือนาง ก. ประกอบการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านจากทางราชการเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน เป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงถือเป็นการไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของความเป็นข้าราชการ และนับได้ว่าเป็นการกระทำที่สังคมทั่วไปรังเกียจ ประกอบกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านไม่ถูกต้องและเหมาะสม ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0204/ว 61 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2541 ได้กำหนดแนวทางการลงโทษไว้ว่า เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าข้าราชการรายใดมีเจตนาใช้สิทธิเบิกไม่ถูกต้องขัดกับพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ ให้ถือว่าเป็นการทุจริตมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อมีการสอบสวนแล้วพบว่ามีความผิดจริงให้ส่วนราชการพิจารณาลงโทษไล่ออก ดังนั้น การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 คำสั่งที่ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงเหมาะสมแก่กรณีความผิดแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงมีมติให้ยกอุทธรณ์  
 
(มติชน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 9 มิ.ย. 58)
 
วันที่