Skip to main content
x

 

สภาพร้ายแรงในการดำเนินการสอบสวน

 

                 ครั้งที่ผ่านมา “ก.พ.ค. ขอบอก” ได้กล่าวถึงหัวข้อการลงโทษทางวินัย กรรมการต้องไม่มีสภาพร้ายแรง  โดยบอกกล่าวในประเด็นเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยต้องไม่แต่งตั้งจากกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพราะจะทำให้การดำเนินการสอบสวนเสียไปได้  ในครั้งนี้จึงขอเสนอให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของ ก.พ.ค. ในเรื่องเกี่ยวกับสภาพร้ายแรงในการดำเนินการสอบสวน
                 เรื่องนี้เป็นกรณีที่ข้าราชการรายหนึ่งอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง โดยมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายประการหนึ่งว่ามีการแต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาของตนซึ่งมีสาเหตุโกรธเคืองกันเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการสอบสวนวินัย  การสอบสวนวินัยจึงไม่ชอบ ซึ่ง ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในเบื้องต้นต้องคำนึงถึงการใช้ดุลพินิจที่จะตัดสินว่ากรรมการสอบสวนเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่อาจทำการสอบสวนได้ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย โดยหากมุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาแต่เพียงอย่างเดียวผู้ถูกกล่าวหาอาจใช้สิทธิฟ้องกรรมการสอบสวนเพื่อประวิงเวลาการทำงานของกรรมการสอบสวน ทำให้กรรมการสอบสวนไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา หรือหากมุ่งคุ้มครองกรรมการสอบสวนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยถือว่าไม่เป็นเหตุที่อาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรม กรรมการสอบสวนอาจมีความเห็นไปในลักษณะที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสียหายโดยไม่เป็นธรรมได้ แนวทางการใช้ดุลพินิจที่อยู่บนพื้นฐานของหลักความชอบด้วยกฎหมาย นั้น  จึงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของเรื่องที่ถูกสอบสวนในแต่ละเรื่องเพื่อพิจารณาว่าการกล่าวหาในแต่ละกรณีจะมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอคติหรือความโกรธเคืองกันอย่างรุนแรงจนอาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรมได้มากน้อยเพียงใด 
                 สำหรับกรณีนี้แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้อุทธรณ์เป็นผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ก็ตาม แต่จุดมุ่งหมายที่กำหนดให้มีการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการนั้นก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือหรือเป็นผู้อำนวยความสะดวกในทางธุรการ ไม่ใช่เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนในประเด็นสำคัญในเรื่องที่สอบสวนเช่นเดียวกับกรรมการสอบสวน โดยจะเห็นได้จากการที่กฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการสอบสวนไว้ให้แต่งตั้งจากข้าราชการฝ่ายพลเรือน พนักงานราชการ หรือลูกจ้างประจำก็ได้นอกจากนี้เรื่องที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานชัดเจน  ประกอบกับการที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่ามีเหตุโกรธเคืองกันก็ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุน  ดังนั้น ประเด็นที่ผู้อุทธรณ์โต้แย้งนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
                 ดังนั้น การพิจารณาถึงสภาพร้ายแรงในการดำเนินการสอบสวนจึงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของเรื่องที่ถูกสอบสวนในแต่ละเรื่องเพื่อพิจารณาว่าการกล่าวหาในแต่ละกรณีจะมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอคติหรือความโกรธเคืองกันอย่างรุนแรงจนอาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรมได้มากน้อยเพียงใด  หรือไม่ ด้วยนะ.. ขอบอก
 
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2559)
 
วันที่