Skip to main content
x

 

สภาพข้าราชการกับการร้องทุกข์เกี่ยวข้องกันอย่างไร

     
                  สำหรับ ก.พ.ค. ขอบอกในวันนี้ถึงคราวที่จะมาบอกกันในเรื่องสภาพข้าราชการกับการร้องทุกข์  แม้ประเด็นนี้จะเคยบอกเล่ากันมาหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงที่แปลกไปอย่างน่าสนใจก็อยากที่จะมาบอกเล่าให้รับรู้โดยทั่วกันเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาขออธิบายหลักพื้นฐานของมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ ซึ่ง กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดว่า ผู้ร้องทุกข์ต้องยื่นคำร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยภายใน 30 วัน นับแต่ทราบเหตุแห่งทุกข์ จากข้อกฎหมายนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะร้องทุกข์ได้ต้องเป็นผู้มีสภาพข้าราชการอยู่ในขณะที่ถูกผู้บังคับบัญชาทำให้คับข้องใจ และต้องร้องทุกข์ภายใน 30 วัน
                  ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในประเด็นนี้อีกอย่างหนึ่งที่ ก.พ.ค. ได้วางแนวทางไว้มีอยู่ว่า ข้าราชการท่านหนึ่งมีระยะเวลาในการปฏิบัติราชการอีกเพียงปีเศษก็จะเกษียณอายุราชการกลับได้ทราบข่าวว่าตนจะถูกย้าย จึงยื่นใบขออนุญาตลาออกต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งก็ได้รับอนุญาตให้ลาออก โดยให้มีผลในอีก 30 วันข้างหน้า คือวันที่ 1 สิงหาคม 2557 แต่ในระหว่างนั้นฟ้ากลับผ่าเปรี้ยงลงมาที่ข้าราชการผู้นี้เพราะผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ย้ายในทันที ทำให้ข้าราชการท่านนี้เกิดความทุกข์ใจเป็นอย่างมาก จึงได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ในวันที่ 3 สิงหาคม 2557
                   เรื่องนี้จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ก.พ.ค. จะรับเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการท่านนี้ไว้พิจารณาได้หรือไม่ ซึ่ง ก.พ.ค. ได้พิจารณาและวางแนวทางไว้อย่างน่าสนใจว่า การร้องทุกข์ตามมาตรา 122 นั้น มีเงื่อนไขสำคัญว่า ขณะเกิดความคับข้องใจ ข้าราชการผู้นั้นต้องมีสภาพเป็นข้าราชการ ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบเหตุแห่งทุกข์แล้ว แม้ต่อมาภายหลังข้าราชการผู้นั้นจะพ้นจากการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญก็ตาม แต่หากระยะเวลายังอยู่ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ข้าราชการผู้นั้นทราบเหตุแห่งทุกข์แล้ว ข้าราชการผู้นั้นยังคงมีสิทธิร้องทุกข์ได้และผู้มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ต้องรับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรูปเรื่องต่อไป จะเอาเหตุที่ผู้ร้องทุกข์ไม่มีสภาพข้าราชการอยู่ในขณะยื่นคำร้องทุกข์มาเป็นเหตุในการไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณาไม่ได้ ก.พ.ค. จึงมีมติรับเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการท่านนั้นไว้พิจารณา  ดังนั้น ข้อสรุปของเรื่องนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า “สภาพข้าราชการสำคัญขณะเกิดเหตุ” นะจ๊ะ จะบอกให้
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 10 พ.ย. 2558)

 

วันที่