Skip to main content
x

 

ร้องทุกข์ให้ถูกที่ มิฉะนั้นไม่มีสิทธิ

             

                 วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” มาขอบอกเล่าเรื่องราวที่หลาย ๆ ท่าน  อาจจะหลงลืมกันไปบ้างแล้วว่าหลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำร้องทุกข์มีไว้อย่างไรบ้าง จนกระทั่งหลาย ๆ ครั้ง ก็ยังมีผู้ยื่นคำร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค. โดยที่เป็นการยื่นผิดที่แทนที่จะไปยื่นต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยตามที่กฎหมายกำหนด ก็มายื่นที่ ก.พ.ค. บ้าง หรือมายื่นคำร้องทุกข์ทั้งที่ยังอยู่ในขั้นตอนที่ยังไม่สามารถยื่นได้ดังเช่นที่ปรากฏบ่อยครั้ง  คือ การคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับต่าง ๆ เมื่อประธานกรรมการคัดเลือก ฯ ได้มีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกบางรายก็รีบยื่นคำร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค. ทันที ทั้งที่ประธานกรรมการคัดเลือกซึ่งเป็นผู้ประกาศฯ มิใช่ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ หรือกรณีของข้าราชการหรือบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว แต่ยังคงมีผู้มายื่นคำร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. กันอยู่เนือง ๆ ก.พ.ค. จึงไม่สามารถรับเรื่องร้องทุกข์เหล่านี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ และบางกรณีอาจส่งผลให้ผู้ร้องทุกข์เสียสิทธิในการร้องทุกข์ได้ ดังนั้น วันนี้เรามาทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และ กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
กันอีกครั้งหนึ่ง
                   สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ได้ ดังนี้
                   1. กรณีเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับ ดังนี้
                       (1) กรณีเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ต่ำกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย
                       (2) กรณีเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนกลางที่ต่ำกว่าอธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่ออธิบดีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย
                       (3) กรณีเหตุแห่งการร้องทุกข์ที่เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงที่เป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ และให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย
                   2. กรณีเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรี ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.
                   นอกจากเรื่องร้องทุกข์ให้ถูกที่แล้ว ผู้ร้องทุกข์ก็จะต้องร้องทุกข์สำหรับตนเองเท่านั้นจะไปร้องทุกข์สำหรับผู้อื่นไม่ได้ และคำร้องทุกข์ให้ใช้ถ้อยคำสุภาพ รวมทั้งยังต้องมีสาระสำคัญไม่ว่าจะเป็นชื่อ ตำแหน่ง สังกัด ที่อยู่ การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ ข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาของเรื่องร้องทุกข์ คำขอ และลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์ให้ครบถ้วนอีกด้วย จึงจะไม่เสียสิทธิในการร้องทุกข์
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 22 กันยายน 2558)
 
วันที่