Skip to main content
x

 

ร้องทุกข์ซ้ำ  ทำไม่ได้     

           

                   “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้  ขอเสนอกรณีตัวอย่างเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก. ได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ข. ได้พิจารณาวินิจฉัยหรือมีความเห็นในเรื่องที่ผู้ร้องทุกข์มีหนังสือขอความเป็นธรรม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ  โดยผู้ร้องทุกข์ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ข.  2 กรณี คือ กรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีคณะกรรมการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ร้องทุกข์ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ปรากฏในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง 
                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  ในประเด็นร้องทุกข์เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ก.พ.ค. ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 ไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้ว  และในประเด็นร้องทุกข์เรื่องคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดำเนินการสอบสวนผู้ร้องทุกข์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก.พ.ค. ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้วเช่นกัน  รวมทั้งเมื่อได้พิจารณาประเด็นร้องทุกข์และคำขอของผู้ร้องทุกข์ตามหนังสือร้องทุกข์ฉบับนี้แล้ว ก็พบว่าเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นร้องทุกข์และคำขอของผู้ร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. ได้มีคำวินิจฉัยไปแล้วทั้งสองครั้งดังกล่าวข้างต้น  กรณีจึงเป็นการร้องทุกข์ซ้ำในเรื่องที่ ก.พ.ค. ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว จึงห้ามมิให้รับไว้พิจารณา ตามข้อ 42 (5) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 อีกทั้งการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ข. ได้พิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ร้องทุกข์และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทุกข์ทราบนั้น ก็เป็นเพียงการพิจารณาตอบแจ้งของผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งยังไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพแห่งสิทธิของผู้ร้องทุกข์แต่อย่างใด  กรณีตามเรื่องร้องทุกข์นี้จึงยังไม่ถือเป็นเหตุคับข้องใจในอันที่จะนำมาเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ได้ ดังนั้น ผู้ร้องทุกข์จึงมิใช่เป็นผู้มีสิทธิร้องทุกข์ ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 7 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552  กรณีจึงต้องห้ามมิให้รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาตามข้อ 42 (1) และ (5) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์นี้ไว้พิจารณา และสั่งจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ  
 
(มติชน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 2 มิ.ย. 58)
 
วันที่