Skip to main content
x
 

ร้องทุกข์ กับ ร้องเรียน

 

                    ก.พ.ค. ขอบอกวันนี้  ขอเสนอให้เห็นมุมมองของเรื่องร้องทุกข์กับเรื่องร้องเรียน ที่เป็นประเด็นในการพิจารณาของ ก.พ.ค. ว่า ก.พ.ค. จะรับพิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่มีการร้องมายัง ก.พ.ค. หรือไม่ 
                    ในกรณีเช่นนี้หากพิจารณาข้อกฎหมายแล้วจะเห็นว่า  หลักในเรื่องการร้องทุกข์นั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติไว้ว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ ได้ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวดนี้”  ดังนั้น ไม่ว่าเรื่องใดถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญแล้วมีความคับข้องใจที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือ
ไม่ปฏิบัติต่อตน และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้ ข้าราชการผู้นั้นก็สามารถร้องทุกข์ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด  การพิจารณาของ ก.พ.ค. ว่าจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณาก็จะดูจากเนื้อหาของเรื่องด้วย  เพราะข้าราชการบางรายทำหนังสือร้องเรียนมาแต่ในเนื้อหาเป็นกรณีที่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องการร้องทุกข์  ก.พ.ค. ก็จะรับเรื่องนั้นพิจารณา  แต่ก็มีบางรายที่ร้องทุกข์กล่าวอ้างความคับข้องใจต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาในเนื้อหาแล้ว  ปรากฏว่าไม่เข้าตามหลักเกณฑ์การร้องทุกข์ก็จะไม่รับพิจารณา 
ดังตัวอย่างเรื่องต่อไปนี้
                    เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ นักตรวจสอบภาษีชำนาญการรายหนึ่งร้องทุกข์ว่า ผู้บังคับบัญชาทั้งระดับกรมและระดับกระทรวงเพิกเฉยละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการดำเนินการทางวินัยกับผู้ใต้บังคับบัญชา  ร่วมกันปกปิดข้อความที่ควรบอกให้แจ้ง   ร่วมกันประวิงเวลาให้เนิ่นช้าโดยไม่มีเหตุอันควร  ร่วมกันช่วยเหลือผู้ถูกร้องเรียนทางวินัยไม่ให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง  ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพและไร้ประสิทธิผล ส่งผลให้ผู้ร้องทุกข์ได้รับความเสียหาย นั้น
                    ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการ หรือ ไม่ดำเนินการทางวินัยกับผู้ใต้บังคับบัญชา  เป็นการพิจารณาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา  มิใช่กรณีที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดต่อผู้ร้องทุกข์อันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ได้  กรณีนี้เป็นเพียงการร้องเรียนกล่าวหาผู้บังคับบัญชาเท่านั้น  ไม่เข้าเหตุแห่งการร้องทุกข์แต่อย่างใด  ก.พ.ค. จึงมีมติไม่รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณา  และสั่งจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ 
                    ดังนั้น  จะเห็นได้ว่า “การร้องทุกข์” เป็นเรื่องของความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาต่อตน และเป็นเรื่องของพนักงานสัมพันธ์ที่จะดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการ  แต่ถ้าเป็นเพียงการร้องเรียนกล่าวหาผู้บังคับบัญชา  หรือผู้หนึ่งผู้ใดว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องทุกข์โดยตรงแล้ว  เรื่องดังกล่าวก็จะเป็นเพียงการร้องเรียนกล่าวหาที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของ ก.พ.ค. นะ..ขอบอก
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 12 มกราคม 2558)
 
วันที่