Skip to main content
x

 

รักษาการในตำแหน่ง ไม่ถือเป็นการคัดเลือกตัวบุคคล (2)

 

                 วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” จะขอบอกกล่าวเรื่องราวต่อจากคราวที่ผ่านมา  ในกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่ง  ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องมาจากได้รับคำสั่งให้ไปรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาเฉพาะด้านนโยบายฯ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ซึ่งเป็นตำแหน่งว่าง  แต่ภายหลัง กรมกลับพิจารณาดำเนินการคัดเลือกบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว
                 ครั้งที่ผ่านมาได้กล่าวถึงการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ในส่วนที่เห็นว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาเฉพาะด้านนโยบายฯ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) นั้น เป็นการแต่งตั้งผู้ร้องทุกข์ให้รักษาการในตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นเพียงการแต่งตั้งเพื่อให้ผู้ร้องทุกข์ปฏิบัติงานเท่านั้น โดยยังไม่ได้มีการคัดเลือกให้ผู้ร้องทุกข์เป็นผู้เข้ารับการประเมินผลงานในตำแหน่งดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดแต่อย่างใด
                 ในครั้งนี้จะขอกล่าวในส่วนของการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ต่อ ว่าตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 7 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552  และ ที่ นร 1006/ว 16 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552 กำหนดว่า การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับทรงคุณวุฒิ  ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.4/ว 16 ลงวันที่ 29 กันยายน 2538 (ว 16/2538)  ฉะนั้น กรมไม่สามารถเลื่อนและแต่งตั้งข้าราชการเข้าสู่ตำแหน่งที่ปรึกษาเฉพาะด้านนโยบายฯ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ได้ โดยอัตโนมัติโดยไม่มีการสั่งสมประสบการณ์มาก่อน  ประกอบกับในการคัดเลือกครั้งนี้ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรมและคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเฉพาะด้านนโยบายฯ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินบุคคลตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.4/ว 16 ลงวันที่ 29 กันยายน 2538 แล้ว  ดังนั้น การที่กรมประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตามประกาศกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2558 เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  คำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น  ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทุกข์
                บทสรุปของเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า การให้ข้าราชการผู้ใดไปรักษาการในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด  ไม่ได้หมายความว่า จะให้ผู้นั้นได้ดำรงตำแหน่งนั้นเลย  เพราะหากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดแล้ว  การให้ไปรักษาการก็คงเป็นเพียงการบริหารงานที่มุ่งหวังให้ข้าราชการรายนั้นๆ ได้ทำงานในตำแหน่งนั้นๆ ไปพลางก่อนที่จะดำเนินการเฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งซึ่งอาจเป็นคนที่รักษาการ หรือไม่ ก็ได้ นะ..ขอบอก...

 

(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก"  ฉบับวันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2559) 

 

 
วันที่