Skip to main content
x

 

ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (2)

 

                    ครั้งที่ผ่านมา “ก.พ.ค. ขอบอก” ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับระยะเวลาบังคับ ทั้งความหมายและวัตถุประสงค์ของระยะเวลาดังกล่าว  ซึ่งเป็นประเภทของระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดประเภทหนึ่งไปแล้ว  ครั้งนี้ จะขอเสนอเนื้อหาในส่วนของระยะเวลาเร่งรัด ซึ่งเป็นระยะเวลาอีกประเภทหนึ่งของระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
                    ระยะเวลาเร่งรัด หมายถึง ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ผู้อยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายนั้น กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่มิได้กำหนดผลว่า ถ้าหากไม่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดภายในระยะเวลาที่กำหนดจะส่งผลต่อความชอบด้วยกฎหมายอย่างไร กล่าวคือ ไม่มีสภาพบังคับของกฎหมายใดๆ ว่าจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่มีอำนาจกระทำการต่อไป หรือ บุคคลนั้นเสียสิทธิ หรือ ไม่อาจก่อตั้งสิทธิได้  ทั้งนี้ เนื่องจากโดยสภาพการบริหารงานภาครัฐ หรือ โดยสภาพของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามที่กฎหมายกำหนดไม่อาจจะกระทำให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ได้
                    กำหนดระยะเวลาเร่งรัดที่กฎหมายกำหนด ส่วนมากมักจะกำหนดกรอบระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินกระบวนพิจารณาทางปกครองให้แล้วเสร็จ เช่น กรณีการออก “กฎ” หรือกฎหมายลำดับรองที่ล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้ ก็ไม่มีผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของกฎนั้น เป็นต้น
                    อย่างไรก็ตาม การกระทำการใดหรือการดำเนินการตามระยะเวลาเร่งรัด แม้ว่าจะล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตามก็จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควรด้วย หากล่วงเลยระยะเวลาอันสมควรก็จะเป็นเงื่อนไขก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้อยู่ใต้บังคับของกฎหมายหรือกระบวนการพิจารณาทางปกครองนั้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาหรือดำเนินการให้เสร็จภายในกำหนดระยะเวลาได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
                    ดังนั้น หากพิจารณาตามสภาพบังคับแล้วจะเห็นได้ว่า ระยะเวลาเร่งรัดมีความหมายตรงกันข้ามกับระยะเวลาบังคับนั่นเอง..นะ..ขอบอก...

 

(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ ก.พ.ค. ขอบอก ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2559)

 

วันที่